เตรียมเงินยามเกษียณ ด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญ
การประกันมีอยู่หลายรูปแบบ หากพูดถึงแบบประกันชีวิตสำหรับวัยเกษียณ คงหนีไม่พ้นประกันชีวิตแบบบำนาญ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นการคุ้มครองชีวิตและมีเงินสะสมไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต รูปแบบของกรมธรรม์จึงเป็นแบบประกันระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือแบบประกันที่มีรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนหลังเกษียณ ซึ่งอาจจะจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียวคล้ายกับเงินบำเหน็จ หรือทยอยคืนอย่างสม่ำเสมอเป็นงวด ๆ คล้ายกับเงินบำนาญ
การประกันชีวิตแบบบำนาญ (Life Annuity) นั้น มีที่มาจากการที่คนเรามีช่วงชีวิตที่ยาวนานขึ้น ทำให้ค่าครองชีพในยามเกษียณนั้นมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวตามระยะเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ และด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้คาดเดาจำนวนเงินที่ต้องใช้ยามเกษียณได้ยาก
เรื่องควรรู้ก่อนทำประกันชีวิตแบบบำนาญ
1.ผู้เอาประกันจะได้รับเงินได้ประจำหรือเงินบำนาญตลอดชีพ หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันเกษียณอายุ
2.เน้นการออมทรัพย์มากกว่าความคุ้มครอง
3.กู้ เวนคืน หรือปิดบัญชีได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสด
4.เหมาะกับผู้ที่ต้องการมีรายได้ภายหลังเกษียณอายุหรือผู้ที่ต้องการสร้างบำนาญไว้ใช้ยามชรา
5.อัตราเบี้ยประกันค่อนข้างสูง
6.ชำระเบี้ยประกันในอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา
นำไปลดหย่อนภาษีได้
นอกจากนี้ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้ โดยเมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ขั้นตอนการตัดสินใจเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญ
1.กำหนดวัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิต โดยระบุเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการจากการทำประกันชีวิต เช่น ต้องการมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เดือนละ 20,000 บาท เป็นต้น
2.เลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะสม ควรเลือกกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองและเงื่อนไขในการจ่ายเงินและผลประโยชน์ตรงกับความต้องการของตัวเองให้มากที่สุด เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บออมไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ
3.คำนวณจำนวนเงินเอาประกันที่ต้องการ โดยควรเลือกจำนวนเงินเอาประกันให้เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันด้วย
4.เลือกบริษัทประกัน ควรเปรียบเทียบกรมธรรม์จากหลาย ๆ บริษัท เพื่อใช้เป็นข้อมูลเลือกซื้อกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน
5.สมัครทำประกัน ควรติดต่อบริษัทประกันโดยตรง หรือกรณีตัวแทนประกันต้องขอดูใบอนุญาตการเป็นตัวแทนประกัน กรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน จ่ายเบี้ยประกันตามกำหนด เมื่อได้รับกรมธรรม์พร้อมใบเสร็จให้ตรวจสอบรายละเอียด แจ้งให้ผู้รับผลประโยชน์ทราบโดยละเอียด
ข้อมูล : SCB
ภาพโดย Mary Pahlke จาก Pixabay