รีเซต

'กรมหม่อนไหม' ชูผ้าไหมแท้คุณภาพดี ต้องมีสัญลักษณ์เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน 'ตรานกยูงพระราชทาน' เท่านั้น

'กรมหม่อนไหม' ชูผ้าไหมแท้คุณภาพดี ต้องมีสัญลักษณ์เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน 'ตรานกยูงพระราชทาน' เท่านั้น
มติชน
6 กันยายน 2564 ( 13:05 )
94

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมเร่งส่งเสริมการผลิตผ้าไหมไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อยกระดับผ้าไหมไทยให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ได้ทรง พระราชทานสัญลักษณ์ “ตรานกยูงพระราชทาน”  ให้เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทย จำนวน 4 ชนิดได้แก่ นกยูงสีทอง เป็นผ้าไหมที่ใช้เส้นไหมไทยพันธุ์ไทยพื้นบ้านสาวด้วยมือ ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้าน นกยูงสีเงิน เป็นผ้าไหมใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง ทอด้วยกี่กระตุก นกยูงสีน้ำเงิน เป็นผ้าไหมใช้เส้นไหมแท้ ไม่กำหนดวิธีการทอ และนกยูงสีเขียว เป็นผ้าไหมที่ใช้เส้นไหมแท้เป็นหลักร่วมกับเส้นใยชนิดอื่น ไม่กำหนดวิธีการผลิต โดยผ้าไหมทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว ต้องย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

กรมหม่อนไหมได้ขับเคลื่อนการรับรองมาตรฐานผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” ทั้ง 4 ชนิดในทุกมิติ ทั้งทางด้านส่งเสริมการผลิตให้ผ่านมาตรฐานโดยการอบรมให้ความรู้หลักสูตรต่าง ๆ แก่ผู้ทอผ้าไหม และการให้บริการรับรองมาตรฐาน โดยได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผ้าไหม “ตรานกยูงพระราชทาน” ไว้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ตรวจสถานที่ผลิต และวัสดุ อุปกรณ์การผลิต 2) ตรวจวัตถุดิบ (พันธุ์ไหม เส้นไหม และเส้นใยอื่น) 3) ตรวจกระบวนการผลิต (การสาวไหม การฟอกย้อมสี และการทอผ้า) 4) ตรวจคุณภาพผ้าไหมทุกชิ้นและทุกเมตร (ทดสอบการตกสี ความสม่ำเสมอของสี ลวดลายและเนื้อผ้า) และ 5) การรับรองโดยการติดดวงตรานกยูงพระราชทาน พร้อม 2D Barcode เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ สำหรับผ้าไหมที่ผ่านการรับรอง จะติดดวงตรานกยูงพระราชทานบนผืนผ้าทุกระยะ 1 เมตร ส่วนผ้าไหมที่ขายเป็นชิ้นหรือเป็นผืนเช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าถุง จะติดดวงตรานกยูงพระราชทานบนป้ายกระดาษสำหรับรับรองร่วมกับติดป้ายผ้าตรานกยูงพระราชทานบนผ้าไหมด้วย

 

 

 

 

กรมหม่อนไหมได้กำหนดเป้าหมายการให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผ้าไหม “ตรานกยูงพระราชทาน” ให้กับผู้ผลิตผ้าไหมทั่วประเทศปีละไม่น้อยกว่า 200,000 เมตร ในปี2564 ได้ให้บริการตรวจสอบรับรองแล้วจำนวน 189,000 เมตร คิดเป็น 94.5 % โดยมูลค่าผ้าไหมก่อนการรับรองคิดเป็น 304.32 ล้านบาท หลังผ่านการรับรองแล้วมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 352.64 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 15.8 %

 

 

“อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 แต่ผู้ผลิตผ้าไหมไทยยังคงมีรายได้อย่างต่อเนื่อง จากการจำหน่ายผ้าไหมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ  ขอฝากถึงผู้ใช้หรือผู้ซื้อผ้าไหมให้มั่นใจในมาตรฐานผ้าไหมไทยว่า ผ้าไหมแท้คุณภาพดี ต้องมีตรานกยูงพระราชทาน” เท่านั้น อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง