จีน : อุดมการณ์ “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” ของสี จิ้นผิง จะกระทบต่อโลกอย่างไร
รัฐบาลจีนประกาศว่ามีความจำเป็นยิ่งที่ต้องบังคับใช้นโยบายมุ่งลดช่องว่างทางรายได้ของประชาชนที่กำลังถ่างออกไป ในการบริหารเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่า สิ่งที่จีนทำมาพร้อมกับการควบคุมธุรกิจและสังคมมากขึ้น
เสียงวิจารณ์บอกว่า แม้การผลักดันแนวคิด "ความรุ่งเรืองร่วมกัน" (Common Prosperity) มุ่งเน้นไปที่คนในประเทศโดยตรง แต่มันก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก
หนึ่งในผลที่ตามมาจากแนวคิดความรุ่งเรืองร่วมกันที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการที่จีนหันมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศเป็นลำดับแรก
อาลีบาบา (Alibaba) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีนี้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ได้รับปากแล้วว่าจะส่งเสริมโครงการความรุ่งเรืองร่วมกันในจีน 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.24 แสนล้านบาท) และได้ตั้งคณะทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ นำโดยแดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของอาลีบาบา
ทางบริษัทระบุว่า ทางบริษัทจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ และ "ถ้าสังคมไปได้ดี เศรษฐกิจไปได้ดี อาลีบาบาก็จะดีตามไปด้วย"
เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่เป็นคู่แข่ง ก็กำลังสนับสนุนแนวคิดนี้เช่นกัน โดยรับปากว่า จะช่วยเหลือ 7.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.62 แสนล้านบาท)
ภาคธุรกิจของจีนกระตือรืนร้นที่จะแสดงให้เห็นว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเริ่มมีการผลักดันบริษัทต่าง ๆ ที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ใหม่ของ สี จิ้นผิง ก็ทำให้เกิด "ความตกตะลึงขึ้น" บริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจีนเปิดเผยกับดิฉันเป็นการส่วนตัว
"แต่เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับแนวคิด นี่ไม่ใช่การปล้นคนรวย มันคือการปรับโครงสร้างสังคมใหม่ และสร้างชนชั้นกลาง สุดท้ายแล้วเราก็คือธุรกิจเพื่อการบริโภค ดังนั้น มันจึงดีสำหรับเรา"
ภาคฟุ่มเฟือยอาจจะกระทบหนัก
ถ้าความรุ่งเรืองร่วมกันหมายถึงการให้ความสำคัญกับชนชั้นกลางเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจระดับโลกที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นคนกลุ่มนี้
"เราเห็นได้ว่า การมุ่งเน้นไปที่คนุร่นใหม่ที่มีงานทำเป็นเรื่องดี" เยอร์ก วุตต์เคอ ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน กล่าวกับดิฉัน
"ถ้าพวกเขารู้สึกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางสังคมในประเทศจีน ซึ่งกำลังสึกหรอลง ก็จะเป็นผลดีต่อเรา เพราะเมื่อชนชั้นกลางขยายตัว ก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น"
แต่นายวุตต์เคอ เตือนว่า ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่หรูหรา อาจจะไม่ดีตามไปด้วย
"การจับจ่ายใช้สอยของคนจีนคิดเป็นประมาณ 50% ของการบริโภคสินค้าหรูทั่วโลก และถ้าคนรวยในจีนตัดสินที่จะซื้อนาฬิกาสวิสน้อยลง ซื้อเนกไทอิตาเลียนและรถหรูจากยุโรปลดลง อุตสาหกรรมส่วนนี้ก็จะได้รับผลกระทบ"
แต่แม้ว่า นายวุตต์เคอ จะยอมรับว่า เศรษฐกิจของจีนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มรายได้เฉลี่ยที่คนจีนได้รับ เขาบอกว่า ความรุ่งเรืองร่วมกันอาจจะไม่ใช่หนทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการไปถึงจุดนั้น
สตีเวน ลินช์ จากหอการค้าอังกฤษในจีน กล่าวเช่นกันว่า ความรุ่งเรืองร่วมกันไม่ได้เป็นการรับประกันว่า ชนชั้นกลางจะขยายตัวในแบบเดียวกับที่เคยเป็นเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา
เขาได้พูดถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
"เมื่อ 30 ปีก่อน ครอบครัวชาวจีน 1 ครอบครัว อาจจะกินเกี้ยวได้เดือนละชาม" เขาพูดกับดิฉันทางโทรศัพท์จากกรุงปักกิ่ง "20 ปีก่อน บางทีอาจจะกินได้สัปดาห์ละชาม 10 ปีก่อน อาจจะเปลี่ยนเป็นกินได้ทุกวัน ตอนนี้ พวกเขาซื้อรถยนต์ได้"
แต่จนถึงตอนนี้ นายลินช์ กล่าวว่า ความรุ่งเรืองร่วมกันยังไม่ได้ทำอะไรให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น นอกจากความพยายามรับผิดชอบต่อสังคมอย่างที่อาลีบาบาและเทนเซ็นต์ได้ทำไป
"นอกจากนี้ยังมีการออกกฎเกณฑ์หลายอย่างขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็วในหลายภาคส่วน" เขากล่าวถึงการปราบปรามบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งเมื่อไม่นานนี้ของจีน "นั่นทำให้เกิดความไม่แน่นอนและทำให้เกิดคำถามขึ้น ถ้าพวกเขาหันกลับไปให้ความสำคัญกับภายในมากขึ้น แล้วพวกเขายังต้องการส่วนที่เหลือของโลกไหม"
"สังคมนิยมใหม่"
หัวใจสำคัญของความรุ่งเรืองร่วมกันคือการสร้างสังคมจีนให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น อย่างน้อยก็สอดคล้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ และการทำเช่นนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงความหมายของสังคมนิยมในบริบทโลกได้
หวัง ฮุยเย่า จากศูนย์คลังสมองจีนและโลกาภิวัตน์ (Centre for China and Globalisation) ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า "ทางพรรคกำลังกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของคนงานทั่วไป อย่าง คนขับแท็กซี่, แรงงานอพยพ และคนส่งของ"
"จีนต้องการเลี่ยงสังคมที่แบ่งขั้ว อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าได้นำไปสู่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์และการโอนทรัพย์สินเอกชนมาเป็นของรัฐ"
แต่บรรดาผู้ที่สังเกตการณ์จีนมายาวนานบอกว่า หากการเปลี่ยนแปลงสังคมนิยมตามแบบจีนให้กลายเป็นแบบจำลองทางเลือกสำหรับเราที่เหลือ คือสิ่งที่ทางพรรคต้องการจริง ๆ เมื่อนั้น ความรุ่งเรืองร่วมกันก็ไม่ใช่หนทาง
จอร์จ แม็กนัส รองศาสตราจารย์ ที่ศูนย์จีน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ความรุ่งเรืองร่วมกันไม่ได้หมายถึงการทำตามแบบจำลองสวัสดิการสังคมแบบในยุโรป
"มีการกดดันให้ทำตามเป้าหมายของพรรคอย่างแน่นอน" เขากล่าว "จะมีการเก็บภาษีเงินได้ที่สูงและ 'ไร้เหตุผล' และมีการกดดันบริษัทเอกชนให้บริจาคเพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจของพรรค" เขากล่าว "แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า"
จีนในอุดมคติ
ชัดเจนว่า ความรุ่งเรืองร่วมกันคือส่วนสำคัญที่ สี จิ้นผิง ใช้ปกครองสังคมและรัฐจีน
โดยมีการรับปากว่าจะทำให้สังคมเท่าเทียมกันมากขึ้น มีชนชั้นกลางที่มีฐานะดีขึ้นและจำนวนมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ควรจะเป็นฝ่ายให้แทนที่จะแค่รับอย่างเดียว
ทางพรรคหวังว่า จีนในอุดมคติที่มีการสั่งการจากบนลงล่างจะได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นแบบจำลองทางเลือกที่ใช้งานได้สำหรับโลก แทนที่สิ่งที่ชาติตะวันตกเสนอ
แต่มันก็มาพร้อมกับการที่ทางพรรคมีอำนาจและการควบคุมที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
การที่ธุรกิจต่างชาติเข้ามาดำเนินการในจีนเป็นเรื่องที่ยากมาโดยตลอด ความรุ่งเรืองร่วมกันจะยิ่งทำให้ธุรกิจต่างชาติเข้าสู่ ตลาดของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกยากมากยิ่งขึ้น