รีเซต

"จ๊อบส์ ดีบี" เผยผลสำรวจครึ่งปีหลัง "อัตราจ้างงาน" ฟื้น 88% เปิด 5 อาชีพที่นายจ้างต้องการ

"จ๊อบส์ ดีบี" เผยผลสำรวจครึ่งปีหลัง "อัตราจ้างงาน" ฟื้น 88% เปิด 5 อาชีพที่นายจ้างต้องการ
มติชน
24 มิถุนายน 2563 ( 13:39 )
98
1
"จ๊อบส์ ดีบี" เผยผลสำรวจครึ่งปีหลัง "อัตราจ้างงาน" ฟื้น 88% เปิด 5 อาชีพที่นายจ้างต้องการ
“จ๊อบส์ ดีบี” เผยผลสำรวจครึ่งปีหลัง “อัตราจ้างงาน” ฟื้น 88% เปิด 5 อาชีพที่นายจ้างต้องการ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ได้สำรวจผู้ประกอบการและคนทำงาน ถึงผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ครอบคลุมคนทำงานกว่า 1,400 คน และผู้ประกอบการกว่า 400 ราย พบว่า ร้อยละ 25 ของคนทำงานได้รับผลกระทบโดยตรง โดยร้อยละ 9 ถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 16 ถูกหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพนักงานอยู่ในกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท มีลักษณะงานเป็นสัญญาจ้าง อายุมากกว่า 45 ปี และทำงานให้กับองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน

 

“การสำรวจดัชนีความสุขในการทำงานของแรงงานไทย โดยก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบอยู่ที่ ร้อยละ 85 และในช่วงของการระบาดลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 59 และพบว่าดัชนีความไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน อีกทั้งผลสำรวจยังพบว่า คนไทยให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงในการทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดของการสำรวจจากคนทำงานทั้งหมด 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ผู้ประกอบการกว่า ร้อยละ 88 คาดว่าการจ้างงานจะกลับมา” น.ส.พรลัดดา กล่าว

น.ส.พรลัดดา กล่าวว่า จากผลสำรวจยังเห็นสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากผู้ประกอบการที่สะท้อนช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่า ผู้ประกอบการ ร้อยละ 88 มีแนวโน้มการจ้างงานอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้ ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 33 อยากจะจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประเทศ ร้อยละ 53 มีแนวโน้มที่จะว่าจ้างเด็กจบใหม่ทำงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างงานใน 6 เดือนข้างหน้า มากที่สุดใน 5 สายงาน ได้แก่ 1.งานไอที 2.งานการตลาด/งานประชาสัมพันธ์ 3.งานขาย/งานบริการลูกค้า/งานพัฒนาธุรกิจ 4.งานต้อนรับ/งานในร้านอาหารและบริการเครื่องดื่ม และ 5.งานจัดซื้อ

 

“องค์กรต่างๆ ควรเร่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อลดความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความสมดุลของชีวิตและการทำงาน รวมถึงสวัสดิภาพของพนักงาน หลังจากเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะฟื้นฟูจากวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งคนทำงานจะมองหาองค์กรในมุมที่แตกต่างออกไป โดยองค์กรที่สามารถสร้างจุดแข็ง และสร้างความแตกต่างในเชิงผลตอบแทนจะได้เปรียบในการดึงคนที่มีความรู้ ความสามารถไปร่วมงาน ทำให้ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนจากตลาดที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยคนทำงาน” น.ส.พรลัดดา กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.พรลัดดา กล่าวว่า ล่าสุดจ๊อบส์ ดีบี ได้ขยายโครงการ “ทูเก็ตเทอร์อเฮด” (#TogetherAhead) จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือผู้หางานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกช่องทางให้ผู้ประกอบการได้คนทำงานที่ตรงใจ รวมถึงผู้หางานได้พบงานที่ดีมีคุณภาพจากองค์กรชั้นนำที่น่าเชื่อถือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง