อนามัยโลกเดินเครื่องจ่ายวัคซีนกันโควิดเดือนก.พ. ชี้ศีลธรรมโลกตกต่ำ-ชาติร่ำรวยเหมาเกลี้ยง
อนามัยโลกเดินเครื่องจ่ายวัคซีนกันโควิดเดือนก.พ. - วันที่ 19 ม.ค. บีบีซีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนถึงภาวะศีลธรรมตกต่ำของมนุษยชาติ จากตัวเลขความไม่เท่าเทียมของการกระจายวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในชาติร่ำรวย ขณะที่ความริเริ่ม โคแว็กซ์ ของ WHO เตรียมแจกจ่ายวัคซีนให้ทุกชาติทั่วโลก ตั้งแต่เดือนก.พ.นี้
นายแพทย์อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่คนหนุ่มสาว และร่างกายแข็งแรงในประเทศที่ร่ำรวยจะได้มีโอกาสรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนบรรดาผู้สูงอายุ และผู้มีความเสี่ยงสูงในชาติที่ยากจนกว่า
คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลัง WHO พบว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้รับการแจกจ่ายออกไปแล้วกว่า 39 ล้านโดส ในชาติร่ำรวย 49 ประเทศ แต่ชาติที่ยากจนนั้นมีเพียง 1 ประเทศที่ได้รับวัคซีน ในปริมาณ 25 โดส สะท้อนความไม่เท่าเทียมต่อโอกาสการเข้าถึงของประชาคมโลก
รายงานระบุว่า ชาติที่มีเทคโนโลยีการพัฒนาและสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เองแล้ว ล่าสุด ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอกชนระดับข้ามชาติอย่าง ไฟเซอร์-บิออนเทค จากสหรัฐและเยอรมนี ซึ่งเกือบทั้งหมดเน้นผลิตวัคซีนให้ประชากรในชาติของตัวเองก่อน
นพ.เกเบรเยซุส กล่าวว่า "ผมพูดอย่างตรงไปตรงมา โลกกำลังมาใกล้ถึงจุดตกต่ำทางศีลธรรมที่รุนแรง และราคาของมันจะต้องจ่ายด้วยชีวิตของชาติที่ยากจน"
ผอ.WHO ยังแสดงความไม่เห็นด้วยถึงแนวความคิดประเภท "ฉันต้องได้ก่อน" ว่าเป็นสิ่งที่ล้มเหลวเพราะจะส่งเสริมให้ราคาของวัคซีนพุ่งสูงขึ้นและสนับสนุนการกักตุน พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติเข้าสู่ความริเริ่ม โคแว็กซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นการกระจายวัคซีนของ WHO ซึ่งจะเริ่มในเดือนก.พ.นี้
https://www.youtube.com/watch?v=5opR6x6NMpQ
"มิฉะนั้นแล้วการกระทำทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยาวนานออกไปอีก นั่นหมายถึงมาตรการชะลอการระบาดที่ต้องตามมา ส่งผลต่อชีวิตและเศรษฐกิจที่ต้องได้รับผลกระทบ"
"ผมขอยื่นคำท้าทายไปยังชาติสมาชิกทั่วโลกให้มีเป้าหมายร่วมกันว่าวันที่ 7 เม.ย. ที่จะถึงนี้ซึ่งเป็นวันสุขภาพโลก ทุกประเทศบนโลกจะต้องมีวัคซีนเริ่มฉีดกันแล้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความหวังในการเอาชนะโรคระบาดและความไม่เท่าเทียม ที่เป็นรากเหง้าปัญหาการรับมือวิกฤตทางการแพทย์"
ทั้งนี้ ความริเริ่มโคแว็กซ์มีชาติสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 180 ประเทศ สนับสนุนงานโดย WHO คณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายวัคซีนให้ประชาคมโลกอย่างเท่าเทียม และสร้างอำนาจต่อรองให้กลุ่มประเทศต่อเอกชนผู้พัฒนายา
ในจำนวนนี้ มีชาติยากจนและรายได้ปานกลางจำนวน 92 ประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนการซื้อวัคซีนให้จากเงินบริจาคขององค์กรข้ามชาติ และมูลนิธิต่างๆ ล่าสุด โคแว็กซ์ มีวัคซีนอยู่ในโครงการแล้ว 2 พันล้านโดส และกำลังจะได้มาเพิ่มอีก 1 พันล้านโดส ซึ่งจะเริ่มกระจายวัคซีนในเดือนก.พ.นี้