รีเซต

"โรคข้อเข่าเสื่อม" ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้แล้ว

"โรคข้อเข่าเสื่อม" ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้แล้ว
TNN ช่อง16
12 ตุลาคม 2565 ( 11:41 )
105

สปสช.ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง “โรคข้อเข่าเสื่อม” จัดสิทธิประโยชน์ “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า” ช่วยให้เข้าถึงการรักษา เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย เผยมีผู้ป่วยรับการผ่าตัดเกือบ 1 หมื่นครั้งต่อปี 


วันนี้ (12 ต.ค.65) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคข้อนับเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก 

ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าผู้ชาย ทั้งประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งโรคนี้สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างยิ่ง 

อาการเริ่มแรกจะเริ่มปวดเมื่อยตึงที่เข่า และจะปวดมากขึ้นหากมีการเคลื่อนไหว เมื่อลุกนั่งหรือเดินก็จะมีเสียงในข้อ โดยผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นจะมีภาวะข้อบวม ข้อเข่าโก่งงอ ปวดข้อมากขึ้นและเดินลำบาก นำไปสู่ภาวะข้อเข่ายึดติดจนไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  

ทั้งนี้ ในการรักษานอกจากการทำกายภาพบำบัด กินยาแก้ปวด เพื่อลดการอักเสบของข้อในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นแล้ว ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจะมีวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่เป็นการรักษาที่มีประสิทธิผล แต่ด้วยค่ารักษาที่สูงมากถึงหลักแสนบาท ทำให้ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่เข้าถึงการรักษาด้วยวิธีนี้

สปสช. เข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ไม่สามารถเดินและใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ในฐานะ สปสช. ที่เป็นหน่วยงานดำเนินงาน "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือ "บัตรทอง 30 บาท" เพื่อดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ให้เข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุม

และทั่วถึงมากที่สุด จึงบรรจุ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเข้าถึงการรักษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นอกจากการสนับสนุนในส่วนค่าบริการผ่าตัดแล้ว สปสช.ได้มีการบริหารจัดการในรูปแบบการเบิกจ่ายอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามาอย่างต่อเนื่อง 


จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 -2564 มีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมทั้งกรณีผ่าตัด 1 ข้าง และ 2 ข้างรวมจำนวน 9,559 ครั้ง 10,434 ครั้ง 10,864 ครั้ง 10,052 ครั้ง และ 8,090 ครั้ง ล่าสุดปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วจำนวน 9,408 ครั้ง 

ภาพรวมเฉลี่ยผู้ป่วยรับบริการ 9,735 ครั้งต่อปี โดยมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และสังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศร่วมให้บริการ 232 แห่ง

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าให้กับผู้ป่วย ปี 2566 นี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในการดำเนินโครงการผ่าตัดข้อเข่าและสะโพกเทียม ปี 2566 

เพื่อให้บริการผู้ป่วยฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 100-200 ข้อ โดยให้ผู้ป่วยที่มีความประสงค์รับการผ่าตัดสมัครเข้าร่วมขอรับบริการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้      

“วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันโรคข้อสากล (World Arthritis Day) สปสช.ร่วมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักต่อโรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากในด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ขอให้ดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง 

เช่น การควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือท่าทางที่เสี่ยงต่อกาทรุดของข้อ อย่างท่านั่งยอง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่า เพื่อให้ทุกคนมีข้อเข่าที่ดี ป้องกันภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร” เลขาธิการ สปสช. กล่าว.


ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาพปกโดย rawpixel.com on Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง