รีเซต

ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย

ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย
มติชน
15 มีนาคม 2565 ( 03:58 )
38

นายปัณณ์ พัฒนศิริ, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์, ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ CLMV ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ CLMV ได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง (สู่หลักร้อยต่อวันในทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการฉัดวัคซีนที่สูงขึ้น (กัมพูชาฉีดครบโดสแล้ว 81.8% ของประชากร, สปป.ลาว 58.7%, เมียนมา 38.4% และเวียดนาม 78.5% ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565) และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตามการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19 อย่างปลอดภัย ขณะที่ภาคการส่งออกก็กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ได้เริ่มมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว หรือลดเวลาการกักตัวลง หากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว EIC มองว่ามาตรการควบคุม COVID-19 ในเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 จะผ่อนคลายกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์จากนอกประเทศจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ CLMV ที่ต้องจับตามองในปี 2565 ได้แก่ 1) สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง 2) อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังค่อนข้างต่ำในสปป.ลาวและเมียนมา 3) เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจ CLMV 4) ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินของเศรษฐกิจ CLMV กำลังอ่อนค่า และ 5) เสถียรภาพทางการคลังและการเงินในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาว และเมียนมา ที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงเทียบกับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะประเทศก็ยังคงมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมาที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างจำกัด

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่สูงขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกไทยไปยัง CLMV คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลง โดยมีปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง ได้แก่ โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้สูง และการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเปิดเพิ่ม 12 ด่านในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงการเลื่อนการเปิดด่านค้าชายแดนออกไปหากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและมาตรการเปิดรับนักเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว โดยเวียดนามคาดว่าจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนจากไทยสูงสุดต่อไป ขณะที่การลงทุนในเมียนมาจะซบเซาอย่างมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเดินทางเข้าไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มคลี่คลาย หากไทยสามารถทำข้อตกลงจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ (Travel Bubbles) กับประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้โดยเฉพาะผู้เดินทางผ่านด่านชายแดน

 

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงในการตรวจเชื้อ COVID-19 และการทำประกันการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวจาก CLMV ในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโอกาสการจ้างงานในไทยที่สูงขึ้น มาตรการกักตัวที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง และนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในไทยซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ประมาณ 2.16 ล้านคน ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวยังยืดเยื้อต่อไป อาจนำไปสู่ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง