“หมูเถื่อน” หันหัวเรือไปเวียดนาม ก่อนมุดกลับเข้าไทยทางชายแดน
อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการด้านปศุสัตว์
เดือนกันยายน-ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นช่วงของการปราบปราม “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้ามาในไทยอย่างจริงจัง โดยหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ร่วมกับทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ดักจับทุกช่องทางที่ได้เบาะแส หรือสันนิษฐานว่าจะเป็นเส้นทางของเนื้อหมูผิดกฎหมาย หลังไม่สามารถจับผู้กระทำความผิดตัวจริงและของกลางได้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแหล่งนำเข้าใหญ่เข้าสู่ไทย
การชี้เป้าที่แม่นยำ การวางแผนสืบค้นจริงจัง การดักจับอย่างรัดกุม และการเพิ่มความถี่ในการจับกุม ทำให้ “ผู้ร้าย” ทำงานยากลำบากมากขึ้น ช่องทางเดิมลักลอบนำเข้าไม่สะดวกเช่นที่ผ่านมา จำต้องหันหัวเรือจากช่องทางหลักที่ท่าเรือไทย ไปท่าเรือประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามทั้งโฮจิมินห์และดานังเพื่อลงของผิดกฎหมาย แล้วจึงผ่านพรมแดนเข้ามาขายในไทยทางปอยเปต อรัญประเทศ เชื่อมกับจังหวัดสระแก้ว หรือจากดานัง มาสะหวันเขตแล้วข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นที่มุกดาหาร ลำเลียงผ่านช่องทางธรรมชาติแบบ “กองทัพมด” ล้วนมีปลายทางที่ไทยทั้งสิ้น
ผลของการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ภาครัฐล่าสุด คืนวันที่ 30 ตุลาคม 2565 สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้าซากสุกรจากประเทศกัมพูชา โดยชาวกัมพูชาแบกซากสุกรจำนวน 5,000 กิโลกรัม ข้ามชายแดนจากกัมพูชามายังฝั่งไทย และถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุมขณะกำลังขนซากสุกรดังกล่าวขึ้นรถห้องเย็นฝั่งไทย ที่บ้านหนองปรือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยด่านศุลกากรอรัญประเทศรับผิดชอบดำเนินคดีผู้กระทำความผิด เนื่องจากมีอัตราโทษสูงสุด ส่วนของกลางมอบให้ด่านกักกันสัตว์สระแก้วดำเนินการทำลายโดยการฝังกลบ...แต่ไม่ได้เจ้าของหมูผิดกฎหมายที่แท้จริงตามเคย
ส่วนหมูเถื่อนที่กักตุนไว้ที่ห้องเย็นในไทยต้องเร่งระบาย “ของโจร” ออกอย่างรวดเร็วเพื่อหนีความผิด อาจจะมีผลให้ราคาเนื้อหมูในตลาดปรับตัวอ่อนลงเล็กน้อย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ตุลาคม 2565) กรมการค้าภายใน รายงานสถานการณ์หมูเนื้อแดงราคาปรับลดลง 5-19% เหลือกิโลกรัมละ 167 - 185 บาท ขณะที่หมูเถื่อนกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมากทำให้โรงชำแหละหมูไม่ซื้อหมูจากฟาร์มของเกษตรกร
หมูเถื่อน ลักลอบเข้าไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 หลังกรมปศุสัตว์ประกาศอย่างเป็นทางการพบโรค ASF ในประเทศไทย ผ่านไปมากกว่า 10 เดือน หมูเถื่อนยังกระจายทั่วทุกพื้นที่ บั่นทอนความเชื่อมั่นของเกษตรกรไทยว่าผลผลิตหมูรุ่นใหม่ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดจะขายได้ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน ตลอดจนปัจจัยการป้องกันโรคที่เพิ่มขึ้น 30% เช่นกัน ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกรอยู่ที่ 98-100 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเฉลี่ยหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 197 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ แต่หากหมูเถื่อนยังปราบไม่หมดเช่นนี้ โอกาสในการขายผลผลิตของเกษตรกรก็ริบหรี่ ตลอดจนราคาถูกบิดเบือนไม่สะท้อนต้นทุนผลิตที่แท้จริง
ฝั่งผู้บริโภค ขอให้ตระหนักว่า หมูไทยปลอดภัยกว่าหมูเถื่อนแน่นอน เพราะกรมปศุสัตว์คุมเข้มและตรวจสอบสม่ำเสมอไม่ให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มเลี้ยง เพราะมีการประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เด็ดขาด จึงไม่ควรเห็นแก่ของราคาถูกมากกว่าสุขภาพที่ดี เลือกกินหมูไทยที่มีสัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” หรือเลือกซื้อจากผู้ขายที่ไว้ใจได้เท่านั้น
สำคัญที่สุด คือ หน่วยงานหลักในการปราบปรามหมูเถื่อนทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ต้องไม่หยุดจับกุมและสาวให้ถึงผู้กระทำผิดตัวจริง นำตัวมาดำเนินดคีให้ถึงที่สุด เพื่อตัดตอนหมูเถื่อนของไทยให้สิ้นซากอย่างแท้จริง