รีเซต

'เฉลิมชัย' แจ้งข่าวดี ครม.อนุมัติงบกลาง 1,188 ล้านบาทให้ปศุสัตว์เยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู-โคกระบือ

'เฉลิมชัย' แจ้งข่าวดี ครม.อนุมัติงบกลาง 1,188 ล้านบาทให้ปศุสัตว์เยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู-โคกระบือ
มติชน
12 กรกฎาคม 2565 ( 16:22 )
65
'เฉลิมชัย' แจ้งข่าวดี ครม.อนุมัติงบกลาง 1,188 ล้านบาทให้ปศุสัตว์เยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู-โคกระบือ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดวันนี้ 12 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางเพื่อชดเชย-เยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู โคและกระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และโรคลัมปีสกิน (LSD) กว่า 1,188 ล้านบาท โดยกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อนุมัติใช้งบฯ ปี 65 งบกลาง รายการเงินสำรอง จ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรง ในสุกรหรือหมูป่า เป็นงบฯ ทั้งสิ้น 753.05 ล้านบาท สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกร และค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย และสำหรับโรคลัมปี สกิน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 435.05 ล้านบาท เป็นค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปีสกิน 226.80 ล้านบาท และค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ 5.15 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรกรณีโค-กระบือ ป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน ตั้งแต่มีนาคม 2564 – 30 เมษายน 2565 และได้สั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วต่อไป

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พบการระบาดตั้งแต่ ปี 61 จน ถึงปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดแล้ว 41 ประเทศทั่วโลก เป็นประเทศในทวีปเอเชีย 15 ประเทศ ซึ่งประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่พบการระบาดของโรคคือไทย (ยืนยันพบการระบาดในวันที่ 10 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบการระบาดแล้ว ใน 29 จังหวัด เช่น กทม. สุพรรณบุรี ลพบุรี บุรีรัมย์ อุดรธานี เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น) โรคดังกล่าวไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์อื่น แต่ในขณะนี้ยังไม่มีป้องกันหรือยารักษาจึงต้องควบคุมโรคโดยการทำลายสุกรที่ติดโรคหรือมีความเสี่ยงว่าจะติดโรค ที่ผ่านมา ครม. มีมติ (9 เมษายน 2562) เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของไทย ตามที่ กษ. เสนอ โดยมีการแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเผชิญเหตุ ระยะเผชิญเหตุ และระยะหลังเผชิญเหตุ ประกอบด้วย 8 มาตรการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการ ตรวจวินิจฉัย การจัดการฟื้นฟูเกษตรกร เป็นต้น

 

และสำหรับกรณีโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ ถือเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา โดยตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน -ธันวาคม 2563 มีรายงาน การเกิดโรคลัมปี สกินในเวียดนามและเมียนมา และเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้พบการระบาด ของโรคลัมปี สกิน ขึ้นในไทย โดยมีการกระจายตัวของโรคใน 69 จังหวัด มีโคและกระบือ ป่วยสะสมทั้งสิ้น 625,720 ตัว (จากทั้งหมด 11.73 ล้านตัว) ตายสะสม 64,903 ตัว ที่ผ่านมาในปีงบฯ 64 ครม. เคยอนุมัติ งบกลางฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุม โรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงิน 684.22 ล้านบาท ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก กรณีมีโค กระบือป่วยตายจากโรคลัมปี สกิน แล้ว ตามระเบียบ กค. ว่าด้วยเงินทดรอง ราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 62 รวม 41 จังหวัด (เกษตรกร ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว จำนวน 52,170 ราย วงเงิน 1,212.72 ล้านบาท) คงเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเนื่องจากอยู่นอกพื้นที่ประกาศเขตการให้ ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ รวม 19 จังหวัด เกษตรกร 9,789 ราย (จำนวนโคและกระบือรวม 11,422 ตัว) เป็นเงินทั้งสิ้น 203.1 ล้านบาท ล่าสุดวันนี้ ครม.ได้จัดสรรงบกลางฯ จำนวน 2 รายการ คือ ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จำนวน 6.3 ล้านโดส และค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ในการฉีดวัคซีน รวม 231.95 ล้านบาท เป็นค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปีสกิน (เฉลี่ย 36 บาท/โดส และฉีด 1 โดส/ปี) 226.80 ล้านบาท และค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ 5.15 ล้านบาท และสองค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรกรณีโค-กระบือ ป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน ตั้งแต่ มี.ค. 64 – 30 เม.ย. 65 จำนวน 203.10 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 435.05 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู โคและกระบือโดยเร็ว หากประชาชนต้องการข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.dld.go.th หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวท้ายที่สุด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง