รีเซต

"GDP"ไทยดีเกินคาด แต่พิษ"COVID"เสี่ยงทำคนจนเพิ่ม 1.14 ล้านครัวเรือน

"GDP"ไทยดีเกินคาด แต่พิษ"COVID"เสี่ยงทำคนจนเพิ่ม 1.14 ล้านครัวเรือน
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2563 ( 09:49 )
310
"GDP"ไทยดีเกินคาด แต่พิษ"COVID"เสี่ยงทำคนจนเพิ่ม 1.14 ล้านครัวเรือน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลขล่าสุดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีไตรมาสที่ 3 ของปี2563 ดีเกินคาด หดตัว 6.4%  พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี63 ดีขึ้น เหลือติดลบ 6% และปีหน้าพลิกบวก 3.5% -  4.5%  แต่หวั่นพิษ COVID-19 ทำคนจนเพิ่ม 1.14 ล้านครัวเรือน 

ทำใมศรษฐกิจดีขึ้น แต่เสี่ยงมีคนจนเพิ่มขึ้น  เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้จะพาไปหาคำตอบกัน

รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563

https://www.youtube.com/watch?v=PmOqjY2HBOA&t=6s




สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพีไตรมาส3 ของปี2563 ติดลบ6.4% ดีกว่าที่ตลาดการคาดการณ์ติดลบ 8.8% และเป็นการปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับการลดลง 12.1% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรฐกิจไทยในไตรมาสที่3 ของปี2563 เพิ่มขึ้น 6.5% (QoQ) รวม 9 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.7% 


ทั้งนี้ ในไตรมาส3 ไม่ใช่เฉพาะไทยที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ประเทศในอาเซียน ก็มีทิศทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นโดยพาะเวียดนามสามารถขยายตัวได้ 2.6%  ขณะที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร ฟิลิปปินส์ และไทย แม้จีดีพียังหดตัว   แต่ก็ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งออกสินค้าฟื้นตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก    

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่3ของปี 2563 มาจากการลงทุนและการใช้จ่ยของภาครัฐเป็นสำคัญ  ส่วนการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ยังอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอย่งชัดเจน  ขณะที่การส่งออกมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นติดลบน้อยลง ชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยไตรมาส3 ติดลบ 8.2% จากลบ 17.8% ในไตรมาส 2 ปีนี้ 


ตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ที่ดีเกินคาดทำให้ สภาพัฒน์ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี2563 จะติดลบ 6% จากเดิมคาดว่จะติดลบ 7.5% และในปี2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวก 4% หรืออยู่ในช่วง 3.5% - 4.5%  

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ภายในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศษฐกิจภายในประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและความเชื่อมี่นภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น  

ประกอบกับเริ่มผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย อาทิ กองถ่ายภาพยนตร์  กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ ( Special Tourist Visa)  เป็นต้น  อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์คาดว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 460,000 ล้านบาท และปีหน้า 490,000 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2562 ที่มีรายได้ท่องเที่ยวจากต่างประเทศสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท  ทั้งนี้สภาพัฒน์ยอมรับว่า ตัวเลขนี้มีความไม่แน่นอนสูง 

นอกจากนี้ การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2564  // แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด และมาตรการทางเศรษฐกิจ // รวมถึงฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติใน2563 

 แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหรือข้อจำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า คือ 

1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาด โดยการประมาณการจีดีพีของปี 2563และ 2564  สภาพัฒน์คาดว่าจะผลิตวัคซีนต้านโควิดออกมาใช้ได้ราวไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสอง 

2. ด้านการจ้างงานและฐานะการเงินขอวงภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจ

3. ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากข้อมูลล่าสุด ณ 31 ตุลาคม 2563 ปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ที่เพียง 48.3% ของค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาเดียวกันย้อนหลัง 10 ปี  โดยเขื่อนสำคัญมีปริมาณน้ำน้อยเป็นประวัติการณ์ ได้ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อภูมิพล และเขื่อวชิราลงกรณ์  จึงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด  

 4. ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก จะต้องติดตามและประเมินทิศทางแนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ // การออกจากสหรัฐยุโรปของอังกฤษ และความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาด ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว 


อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาที่3 ที่ดีเกินคาด หลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ประเมินเศรษฐกิจก็เริ่มขยับจะทบทวนปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่นกระทรวงการคลัง โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า  เศรษฐกิจในปี 2563 น่าจะหดตัวน้อยกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ติดลบ 7.7%  และในปี 2564 เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวเติบโตถึง 4% หลังจากสภาพัฒน์ ประกาศ GDPในไตรมาส 3 ของปี 2563 หดตัว -6.4% ซึ่งดีขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี 2563  ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปในเดือนมกราคมปี 2564 


ด้านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็ปรับประมาณการจีดีพีใหม่  โดย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  เปิดเผยว่า หอการค้าไทยปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่หลังจีดีพีในไตรมาส 3 ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2563  โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบ 6% ถึงลบ 6.5% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 7% ถึงลบ8%  

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวไม่ต่ำกว่า 7%  น้อยกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ติดลบ 10%  

โดยต่างเห็นตรงกันว่า  ภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้าหลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศรวมถึงไทย  อย่างไรด็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 จะยังหดตัวอยู่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน 



อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในช่วงที่ผ่านทำให้ครัวเรือนมีรายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่าย และหนี้สินเพิ่มขึ้น   โดยจากข้อมูลการสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกบสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ( UNIEEF) ได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 เมษายน-17 พฤษภาคม 2563 จำนวน 27,429 ตัวอย่าง  พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19  กลุ่มตัวอย่าง 54% มีรายได้ลดลง และ 33% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันยังพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 14% มีการก่อหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น และ 9% ก่อหนี้นอกระบบ 

ที่สำคัญการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อคนยากจน และกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนจนมากที่สุด โดยเฉพาะคนจนในเมือง โดยจากการสำรวจ “คนจนในเมือง” ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า 60.24% รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด   

โดยสาเหตุที่ครัวเรือนมีรายได้ลดลงเกิดจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการปิดกิจการ และเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น สอดคล้องรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ที่พบว่า  อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง มีผู้ว่างงาน 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.9% ใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่มีอัตราผู้ว่างงาน 1.95%  และหากดูเฉพาะแรงงานในระบบพบว่ามีการว่างงานเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่า  ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 4.88 แสนคน คิดเป็น 4.4% ของแรงงานในระบบ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.5% 

ขณะที่แรงงานที่ยังคงมีงานทำ ชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยพบว่า ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์  เป็น 41.6 ชั่วโมง/สัปดาห์  โดยผู้มีงานทำต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์มีจำนวน 6.3 แสนคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว  ชี้ให้เห็นว่าแม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ไม่ได้มีการทำงานอย่างเต็มที่ 



ขณะที่ครัวเรือนเปราะบาง เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็น “ครัวเรือนยากจน” จากผลกระทบโควิด-19 มีจำนวนครัวเรือนประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนเปราะบางนี้เป็นครัวเรือนที่ไม่ใช่ครัวเรือนยากจนแต่มีสถานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับครัวเรือนยากจน ได้แก่

1.กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน 6.37 แสนครัวเรือน (ข้อมูลปี2562)  ในกลุ่มนี้ประกอบด้วย ครัวเรือนไม่มีส่วนรวมทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนสูงอายุ และครัวเรือนแหว่างกลาง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งกลุ่มนี้รายได้หลักได้เกิดจากการทำงาน แต่เป็นรายได้จากเงินช่วยเหลือของรัฐ และเงินช่าวยเลหือที่ได้รับจากบุคคลนอกครัวเรือน  
2.กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก จำนวน 4.67 แสนครัวเรือน กลุ่มนี้แบ่งเป็นครัวเรือนที่สมาชิกครัวเรือนทำงานในสาขาที่เสี่ยงต่อการตกงา น เช่น ทำงานในภาคท่องเที่ยว และครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอิสระ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ทำให้รายได้ครัวเรือนกลุ่มนี้ปรับลดลงมาก
3.กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินน้อยประมาณ 4.9 หมื่นครัวเรือน กลุ่มนี้แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง แต่มีความไม่แน่นอนของรายได้อยู่เดิมแล้วจากปัญหาการไม่ทีที่ดินทำกิน และมักจะอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบทำให้มีโอกาสตกเป็นคนจนได้ง่าย 


อย่างไรก็ดีหากพิจารณาผลกระทบต่อความยากจนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาพบว่า ทุกครั้งที่มีวิกฤติเกิดขึ้นมักจะมีครัวเรือนที่ตกเป็นคนยากจนเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง  ซึ่งเป็นวิกฤตเศรฐกิจ่ที่เกิดจากโจมตีค่าเงินและส่งผลกระทบต่อภาคกรเงินและภาคธุรกิจ ช่วงดังกล่วมีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 2.03 ล้านคนในปี 2539 เป็น 22.7 ล้านคนในปี 2541 และ 25.8 ล้านคนในปี 2543 

ขณะที่วิกฤติซับไพร์มซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯและกระทบต่อเศรษฐกิจโล และเศรษฐกิจไทย ทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้นจาก 12.7 ล้านคนในปี 2551 เป็น 13.1 ล้านคนในปี 2552    

ดังนั้นวิกฤตโควิด-19 คาดว่าจะจะคนจนเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านคนในปี 2562 เป็นประมาณ 7  ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านคน 

(*****คำนวนจากครัวเรือนที่คาดว่าเสี่ยงตกเป็นครัวเรือนยากจน 1.14 ล้านครัวเรือน  ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัจจุบัน  1 ครัวเรือนมีประมาณ 2.7-2.8 คน  ซึ่งจำนวนสมาชิกครัวเรือนลดลงจากก่อนหน้านี้เร็วมา  ดังนั้น 1.14 ครัวเรือน ก็ประมาณ 3 ล้านคน  แต่ถ้านับเป็นครัวเรือนในปี 2562 มีคนจน 1.31 ครัวเรือน ปี2563 ก็จะมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 2.45 ครัวเรือน ) 


สำหรับในการแก้ปัญหาความยากจน แม้รัฐจะมีมาตรากรช่วยเหลือแก่ครัวเรือนทั้งการช่วยเหลือในภาพรวมและเจาะจงกลุ่มคนจน ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาด จึงต้องมีมาตรการรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ และเร่งรัดในการแก้ไขปัญหานี้ 

โดยสภาพัฒน์เสนอว่า ควรใช้กลไกท้องถิ่น  (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล ) ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ในการเข้าไปค้นหากลุ่มเป้าหมายและดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่อาจนตกหล่นไม่ได้ลงทะเบียน เพื่อให้คนจนสามารถเข้าถึงมาตรการของภาครัฐอย่างรวดเร็ว และตรงกลุ่มเป้าหมาย  

นอกจากนี้ต้องเร่งรัดดำเนินการตามแผนงาน โดยเฉพาะโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่มีวงเงิน 4 แสนล้านบาท ขณะนี้อนุมัติไปแล้วราว 120,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดเบิกจ่ายได้เพียงกว่า 9,000 ล้านบาท  

และต้องอำนวยความสะดวกในการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยหาตำแหน่งงานว่าง การฝึกอาชีพและการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าแหล่งทุน และสินเชื่อที่เหมาะสม รวมทั้งการตลดและสถานที่ค้าขาย

เพราะฉะน้้น แม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ก็ยังวางใจไม่ได้  เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง ที่สำคัญปัญหาการว่างงาน ไม่มีรายได้ อาจนำไปสู่ปัญหาความยากจน  ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า 

รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง