'หนุ่ย ศราวุฒิ' พบ 'บิ๊กอ๊อด' แล้ว! ยันไม่ใช่ 'พนันบอล' ที่หายไปเครียดกลัว 'โควิด' !!!
‘หนุ่ย ศราวุฒิ’ พบ ‘บิ๊กอ๊อด’ แล้ว! ยันไม่ใช่ ‘พนันบอล’ ที่หายไปเครียดกลัว ‘โควิด’!!!
เมื่อวันที่ 15 เมษายน “หนุ่ย” ศราวุฒิ มาสุข อดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ได้เข้าพบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะกรรมการวินัยและมารยาทฯ, พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ที่ปรึกษาสมาคม และนายยงยศ พึ่งธรรม รองเลขาธิการ (ฝ่ายกฎหมาย) ที่ห้องทำงานนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้ข้อมูลชี้แจงรายละเอียดตามที่ตกเป็นข่าว
ศราวุฒิ มาสุข ได้ให้ข้อมูลว่า “ตนเองมีปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาครอบครัว และปัญหาด้านการเงิน แต่ยืนยันว่ากรณีปัญหาด้านการเงินไม่เกี่ยวกับการเล่นการพนันฟุตบอลแต่อย่างใด ส่วนกรณีปัญหาครอบครัวเกิดจากตนเองได้แยกทางกับภรรยามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังมีปัญหาการตกลงเรื่องบุตร ซึ่งเพิ่งจะตกลงกันได้โดยให้ภรรยาเป็นผู้เลี้ยงดู และตนเองจะเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งเสียค่าเลี้ยงดูจำนวนหนึ่ง
สำหรับปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศราวุฒิ เคยสังกัดสโมสรใหญ่มีรายได้จำนวนมาก จึงไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก แต่ต่อมาเมื่อมาสังกัดสโมสรเล็กลงรายได้เริ่มไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องไปหยิบยืมจากเพื่อนๆ และญาติๆ จึงทำให้เกิดความเครียดจากปัญหาส่วนตัวดังกล่าว ประกอบกับในช่วงที่ฟุตบอลถูกเลื่อนการแข่งขันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน ศราวุฒิได้ไปใกล้ชิดกับกลุ่มเพื่อนที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และเกรงว่าถ้าหากไปร่วมซ้อมกับทางสโมสร ตนเองอาจจะเป็นพาหะแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นได้ จึงได้ตัดสินใจแยกตัวไปอยู่ตามลำพัง และไม่ยอมติดต่อกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อหลบหนีสภาวะความเครียดด้านต่างๆ ที่มารุมเร้าอย่างหนักอยู่ระยะหนึ่งจนพ้นกำหนดระยะเวลากักตัว โดยศราวุฒิ ยังยืนยันว่ามีความประสงค์ที่จะกลับมาเล่นกีฬาฟุตบอลในฐานะฟุตบอลอาชีพอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าว และเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือเยี่ยวยา นายศราวุฒิ ตามสมควรแก่กรณี นายกสมาคม จึงแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะกรรมการวินัยและมารยาทฯ, พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ที่ปรึกษาสมาคม และ นายยงยศ พึ่งธรรม รองเลขาธิการ (ฝ่ายกฎหมาย) เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป