รีเซต

'เมย์แบงก์' ส่อง BJC ยอดขายเร่งตัว หนุนกำไรปีนี้ฟื้นแกร่ง

'เมย์แบงก์' ส่อง BJC ยอดขายเร่งตัว หนุนกำไรปีนี้ฟื้นแกร่ง
ทันหุ้น
20 พฤษภาคม 2565 ( 10:06 )
230

#BJC #ทันหุ้น - บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่องหุ้น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยผู้บริหารมองว่ายอดขายของบิ๊กซีและธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีโมเมนตัมเติบโตดีจากการเปิดประเทศ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และการใช้ชีวิตแบบ new normal ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่งจะช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรของ BJC ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ฝ่ายวิจัยจึงคงคำแนะนำซื้อราคาเป้าหมาย (DCF)42 บาท (WACC 7.1%, G.3%)

 

ผลประกอบการ Q1/65 ดีเกินคาด

BJC รายงานกำไรสุทธิ Q1/65 เติบโต 23%YoY เป็น 1.25 พันล้านบาท สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยประมาณการไว้ 9% จากยอดขายที่สูงกว่าคาด และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในเวียดนาม แม้ว่าต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบจะสูงขึ้น กำไรขั้นต้นก็ยังเพิ่มขึ้น 8%YoY เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจทั้งสี่กลุ่มธุรกิจ โดย SSSG ของบิ๊กซีฟื้นตัวขึ้นเป็น +2.9% หลังจากเปิดเมือง ส่วนยอดขายบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น 28%YoY ทั้งนี้ กำไรสุทธิ Q1/65 คิดเป็น 23% ของประมาณการปี 2565 ฝ่ายวิจัย จึงยังคงประมาณการไม่เปลี่ยนแปลง

 

ยอดขายบิ๊กซี-กลุ่มบรรจุภัณฑ์โตแกร่ง

SSSG QTD ของบิ๊กซีเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกิน 10% จากเทศกาลสงกรานต์ และยอดขายสินค้าเกี่ยวกับการเปิดเทอม อีกทั้งการปรับปรุงสาขาส่งผลให้ยอดขายอาหารสดเติบโตได้ดี ขณะที่ยอดขายบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียมมีทิศทางการเติบโตเชิงบวก เนื่องจากกระแสบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนกำลังมาแรงและได้ประโยชน์จากการที่ลูกค้ามีการเปิดตัวสินค้าใหม่ เช่น Functional drink เครื่องดื่มผสมกัญชาและโซจู ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคแบบ New normal หันมาซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ขนาดใหม่มาแทนที่บรรจุภัณฑ์เดิม

 

การบริหารจัดการที่ดีลดผลกระทบต้นทุน

บิ๊กซีมีการปรับเปลี่ยนสินค้าโดยเน้นสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น และเปิดตัวสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าแบบใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับดี ช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินค้าเฮาส์แบรนด์ขึ้นเป็นประมาณ 15-16% ในปี 2565 จาก 11% ในปี 2564 ขณะที่กลุ่มบรรจุภัณฑ์ของ BJC มีการตั้งราคาขายและปรับขึ้นตามต้นทุน(Cost plus) เพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ปริมาณขายบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นจากการที่ต้นทุนต่อหน่วยลดลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง