รีเซต

ทำความรู้จัก "กลุ่มเมฆ" แบ่งออกเป็นกี่ประเภท แต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร?

ทำความรู้จัก "กลุ่มเมฆ" แบ่งออกเป็นกี่ประเภท แต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร?
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2565 ( 11:36 )
419
ทำความรู้จัก "กลุ่มเมฆ" แบ่งออกเป็นกี่ประเภท แต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร?

ภายหลังจากเมื่อวาน (29 ส.ค.65) ได้เกิดปรากฎการณ์ "เมฆดำทะมึน" ปกคลุมกทม.-ปริมณฑล และในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้สภาพอากาศมืดครึ้มพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ โดยต่อมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เฉลยว่า กลุ่มเมฆดำทะมึน คือ "คิวมูโลนิมบัส" มีลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรงทำให้เกิดแนวโค้งเหมือนเมฆอาร์คัส (มีลักษณะโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ คล้ายม้วนแบบหลอดและแบบชั้น) และเนื่องจากอาร์คัส เป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนอง จึงสามารถแผ่ออกมาไกลจากตัวเมฆและมองเห็นได้ในหลายพื้นที่และหลายกิโลเมตร

วันนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก "เมฆ" แต่ละประเภทกัน ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพจาก AFP

 



เมฆ Cloud คืออะไร

คือไอน้ำที่กลั่นตัวรวมกันเข้าเป็นกลุ่มก้อน อาจมีสภาพเป็นอนุภาคเล็ก ๆ ของน้ำหรือน้ำแข็ง หรือทั้งสองอย่างปนกันลอยอยู่ในอากาศ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในกลุ่มของผสมนี้อาจมีอนุภาคใหญ่ ๆ ของน้ำแข็งปนอยู่ด้วย หรืออาจมีอนุภาคที่ไม่มีน้ำหรืออนุภาคที่เป็นของแข็งตัวอย่าง เช่น ก๊าซ ผงฝุ่น หรือควันฯลฯ ซึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปนอยู่ด้วย


เมฆแบ่งเป็น 4 ระดับ มี 10 ตระกูล

1. ระดับเมฆที่ก่อตัวในทางตั้ง(Convective level clouds) มี 2 ตระกูล คือ Cumulus(Cu) , Cumulonimbus(Cb)

2. ระดับเมฆชั้นต่ำ(Low level clouds) มี 2 ตระกูล คือ Stratocumulus(Sc) , Stratus( St)

3. ระดับเมฆชั้นกลาง(Middle level clouds) มี 3 ตระกูล คือ Altostratus (As) , Altocumulus (Ac) , Nimbostratus (Ns)

4. ระดับเมฆชั้นสูง(High level clouds) มี 3 ตระกูล คือ Cirrus (Ci) , Cirrostratus (Cs) , Cirrocumulus (Cc)


การปรากฏของเมฆ Apparent of clouds

การปรากฏให้เห็นของเมฆจะเป็นรูปลักษณะใดเราใช้อธิบายด้วยมิติ (dimensions) รูปร่าง โครงสร้าง เนื้อในของเมฆ (หยาบหรือละเอียด) ความสว่าง และสีสรรของเมฆนั้น ๆ สิ่งต่าง ๆ 

ดังกล่าวแล้วนั้นเราพิจารณาได้จากธรรมชาติของมัน ขนาด (sizes) จำนวนและการกระจายของอนุภาคที่ประกอบเป็นเมฆในท้องฟ้า และขึ้นอยู่กับความเข้มและสีแสงที่เมฆรับเอาไว้ 

ทั้งยังขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ตรวจอยู่ที่ใดและต้นกำเนิดของแสงมาจากที่ใด


การแบ่งแยกชนิดของเมฆ Cloud identification

ในการแบ่งแยกชนิดของเมฆเราต้องพิจารณาตระกูลของเมฆ (genera) ประเภท (species) ชนิด (varieties) ลักษณะเสริม (supplementary features) เมฆที่มาผสมหรือเพิ่มเติม (accessory clouds) และเมฆดั้งเดิม (mother - clouds) รวมทั้งเมทิออร์ (ปรากฏการณ์) ที่เกิดร่วมด้วย (asspciated - meteors)


สัญลักษณ์เมฆ Cloud symbols

เพื่อให้ดูง่ายเข้าเราใช้สัญลักษณ์เมฆซึ่งมีรูปลักษณะคล้ายเมฆนั้น ๆ มาใช้แทนในการเขียนลงบนแผนที่อากาศ อันเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบจำลองสถานี (station model) ในทางอุตุนิยมวิทยา


ระบบเมฆ Cloud system

คือการจัดแบ่งและการจัดเข้าหมวดหมู่ของเมฆโดยเรานำเอาเมฆชนิดต่าง ๆ ในเขต (zone) หรือย่านต่าง ๆ มาพิจารณารวมกันเพื่อหาคุณสมบัติและลักษณะของเมฆแต่ละหมวดหมู่แล้วนำเอามาอธิบายลักษณะของท้องฟ้าว่า ถ้าเมฆมีคุณสมบัติและลักษณะพิเศษอย่างนั้น ๆ จะเป็นเมฆประเภทหรือชนิดใด


ภาพจาก AFP

 

ระบบเมฆของพายุดีเปรสชัน Cloud system of a depression

เป็นระบบเมฆที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของบริเวณความกดอากาศ เช่น เกิดเป็นร่องควมกดอากาศต่ำหรือเกิดบริเวณความกดอากาศต่ำที่มีเส้นไอโซบาร์เป็นวงปิด เช่น ดีเปรสชัน


ระบบเมฆในลักษณะฟ้าคะนอง Thundery cloud system

เมฆประเภทนี้ไม่เกี่ยวกับพายุดีเปรสชัน แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากการพาความร้อนและผลของการไม่สมดุลย์ของบรรยากาศ (อเสถียรภาพ - instability effects)


เมฆในส่วนหนึ่ง ๆ Cloud sector

เป็นเมฆที่อยู่ในเขตหนึ่ง (zone) หรือส่วนหนึ่ง ๆ ของท้องฟ้า เราพิจารณาจากลักษณะของท้องฟ้าซึ่งแต่ละเขต หรือแต่ละส่วนมีลักษณะพิเศษต่างกันเห็นได้ชัดและเมื่อนำแต่ละเขตมารวมกันจะกลายเป็นระบบของเมฆระบบหนึ่ง ๆ


การดัดแปรเมฆ Cloud modification

การดัดแปรเมฆ หมายถึงการทำให้เมฆเปลี่ยนรูปลักษณะทั้งในแบบของการสลายตัวของเมฆ หรือการก่อตัวหรือกระตุ้นเพื่อทำให้เกิดน้ำฟ้า กรรมวิธีที่ทำให้เมฆเกิดการดัดแปรในความหมายของ cloud modifications นั้นคือกรรมวิธีใด ๆ ที่ทำให้เมฆซึ่งเจริญเติบโตขึ้นตามธรรมชาติแปรเปลี่ยนไปโดยการกระทำของมนุษย์ เช่น การหว่านหรือโปรยวัตถุเคมีเข้าไปในก้อนเมฆ (cloud seeding)


ความจุน้ำในเมฆ Water content of clouds

คือปริมาณน้ำในสภาวะของ ๆ เหลวหรือของแข็งที่บรรจุอยู่ในหนึ่งหน่วยปริมาตรของอากาศในก้อนเมฆ


การจัดแบ่งแยกเมฆ Cloud Classification

เนื่องจากเมฆปรากฏรูปลักษณะให้เห็นและมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงมีแบบเปลี่ยนแปลงไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่อย่างไรก็ดีเราสามารถจำกัดคุณลักษณะของแบบต่างๆ 

ได้ด้วยการตรวจดูอยู่ทั่วทุกมุมโลกและจัดเข้าเป็นหมวดหมู่อย่างกว้าง ๆ ซึ่งได้จัดแบ่งไว้เป็นลำดับ ดังนี้ คือตระกูลของเมฆ (genera) ประเภท (species) ชนิด(varieties) ลักษณะเสริมและเมฆที่มาผสมหรือเพิ่มเติม (supplementary features and accessory clouds) ถ้ามี และเมฆดั้งเดิม (mother - clouds) ซึ่งเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าเมฆนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นไรหรือก่อตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม การจัดแบ่งประเภทและการจัดเข้าหมวดหมู่ของเมฆถือตามหลักดังจะได้อธิบายต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

ก. รูปลักษณะที่ปรากฏให้เห็น (apparence)

ข. กรรมวิธีของการเกิด (process of formation)

ค. ความสูงของเมฆโดยทั่วไป (common height)

ง. ส่วนประกอบที่เป็นแบบพิเศษโดยเฉพาะต่างหาก (particulate composition)


จากการพิจารณาตามหลักดังกล่าวจะแบ่งแยกเมฆออกได้ตามลักษณะ 3 แบบ คือ

แบบที่ 1 จากการพิจารณารูปลักษณะที่ปรากฏให้เห็นและกรรมวิธีของการเกิด อาจแบ่งแยกและจัดเข้าหมวดหมู่ดังได้อธิบายแล้วข้างต้น (ตระกูลของเมฆ ประเภท ชนิด ฯลฯ)

แบบที่ 2 จากการพิจารณาความสูงของมันโดยทั่วไปจะจัดแบ่งเมฆออกได้เป็น

-เมฆชั้นสูง (high clouds)

-เมฆชั้นกลาง (middle clouds)

-เมฆชั้นต่ำ (low clouds)

แบบที่ 3 จากการพิจารณาส่วนประกอบของเมฆที่เป็นแบบพิเศษโดยเฉพาะต่างหาก จัดแบ่งออกได้เป็น เมฆน้ำ (water clouds) เมฆผลึกน้ำแข็ง (ice - crystal clouds) และเมฆผสม (mixed clouds) สำหรับเมฆน้ำนั้นประกอบด้วยเม็ดน้ำทั้งหมด (เม็ดน้ำหรือเม็ดน้ำซุปเปอร์คูล) ส่วนเมฆผลึกน้ำแข็งนั้นประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งทั้งหมด และเมฆผสมประกอบด้วยเม็ดน้ำและผลึกน้ำแข็งปนกันอยู่


เมฆซีร์รัส (ซ. - ci) Cirrus

เมฆสีขาวหรือเกือบขาวมีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียดหรือปุย (คล้ายขนนกหรือเส้นผม (hair - like) เป็นแผ่นบางหรือเป็นแถบ เหลือบเป็นมันเงา หรืออาจจะทั้งเป็นปุยและเป็นมัน หรือเหลือบเป็นเงาด้วย เมื่อบังดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์บางครั้งทำให้เกิดวงแสง (Halo) ได้ แต่ไม่เต็มดวง เมฆชนิดนี้เป็นเมฆในชั้นสูงมีฐานสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 10,000 ม.


เมฆซีร์โรคิวมูลัส (ซค. - Cc) Cirrocumulus

เมฆก้อนเล็ก ๆ แผ่เป็นแผ่นบางหรือเป็นแนวสีขาว เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านไม่ทำให้เกิดเงา ประกอบด้วยอนุภาคเล็ก ๆ มากภายในแผ่นเมฆ จัดตัวในรูปของก้อนเล็ก ๆ มีลักษณะเป็นละลอก ๆ อยู่ติดกันหรือบางตอนอาจแยกจากกัน แต่จะอยู่เรียงรายกันอย่างมีระเบียบ ในบางครั้งปรากฏให้เห็นเป็นบริเวณไม่กว้างนักโดยรองรับมุมกับตาเราน้อยกว่า 1 องศา เมื่อเมฆที่เราตรวจนั้นอยู่สูงเหนือขอบฟ้ามากกว่า 30 องศา มักมีช่องหรือรอยแยกเกิดขึ้นในเมฆ ซค. (Cc) ที่เป็นแผ่น เมฆชนิดนี้เป็นเมฆในชั้นสูงมีฐานสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 7,000 ม.


เมฆซีร์โรสเตรตัส(ซส. - Cs) Cirrostratus

เมฆสีขาวโปร่งแสงมีลักษณะเหมือนม่านที่เป็นเส้น ๆ ปุยเหมือนเส้นผมหรืออาจจะมองดูเรียบตลอด ปกคลุมเต็มท้องฟ้าหรือเพียงบางส่วน และมักทำให้เกิดวงแสงสีขาวหรือมีสีรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ (Halo) ได้ เมฆชนิดนี้เป็นเมฆในชั้นสูงมีฐานสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 8,500 ม.


เมฆแอลโตคิวมูลัส (อค. - Ac) Altocumulus

เป็นเมฆมีสีขาวหรือสีเทาหรือมีทั้งสองสีจัดตัวเป็นคลื่นหรือเป็นลอนประกอบด้วยก้อนหรือเป็นชั้น มีเงาเมฆ เมฆชนิดนี้มีลัษณะเป็นเกล็ด เป็นก้อนกลม ๆ หรือเป็นก้อนม้วนตัว (roll) ฯลฯ ซึ่งบางครั้งก็มีลักษณะเป็นฝอยหรือเป็นเส้นใยละเอียด (fibrous) อยู่บ้างเป็นบางส่วนหรือบางทีก็กระจัดกระจาย (diffuse) อาจรวมอยู่ด้วยกันหรือไม่รวมกันก็ได้ เมฆนี้ประกอบด้วยอนุภาคเล็ก ๆ เป็นส่วนมาก มีความกว้างปรากฏให้เห็นระหว่าง 1 - 5 องศา (รองรับมุมกับตา) เมื่อเมฆที่ตรวจนั้นอยู่สูงเหนือของฟ้ามากกว่า 30 องศา


เมฆแอลโตสเตรตัส (อส. - As) Altostratus

เมฆลักษณะเป็นเมฆแผ่นสีเทา หรือสีน้ำเงินและสีนั้นสดใส เมื่อเมฆนี้อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ไม่มีเป็นเยื่อเป็นเส้นอย่างเมฆเซอโรสเตรตัส เมื่อบังดวงอาทิตย์จะทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีซีดเหมือนดูด้วยกระจกฝ้า ในโซนร้อนเมฆนี้มักเกิดในเวลาที่มี ฝนตก


เมฆสเตรโตคิวมูลัส (สค. - Sc) Stratocumulus

มีสีเทาหรือค่อนข้างขาวหรือทั้งเทาและค่อนข้างขาว มีลักษณะเป็นแผ่นแผ่ออกไปในแนวเดียวกัน มีบางส่วนเป็นสีดำ เมฆนี้ประกอบด้วยเมฆที่มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หรือก้อนกลมเล็ก ๆ หรือเมฆม้วนตัว แต่ไม่มีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียด ยกเว้นเมฆที่มีฝนเป็นสาย ๆ ตกลงมาไม่ถึงพื้นดิน (virga) เมฆที่ประกอบเป็นเมฆใหญ่นี้ อาจผสมรวมกันหรือไม่รวมกันก็ได้ โดยปกติจะจัดตัวเข้าเป็นกลุ่ม เป็นแนวหรือเป็นลูกคลื่นทำให้มองเห็นเมฆมีลักษณะเป็นลอนเชื่อมติดต่อกันไป ส่วนมากมียอดแบนเรียบและกว้างใหญ่ และความกว้างของก้อนเมฆรองรับมุมกับตาเราเกินกว่า 5 องศา เมื่อเมฆนั้นอยู่สูงกว่าขอบฟ้าเกินกว่า 30 องศา


เมฆสเตรตัส (ส.- St) Stratus

เป็นเมฆแผ่นสีเทาที่มีฐานค่อนข้างเรียบ เมฆชนิดนี้ให้น้ำฟ้าประเภทฝนละออง (drizzle) ผลึกน้ำแข็ง (ice prisms) หรือละอองหิมะ (snow grains) ถ้าสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเมฆชนิดนี้ได้ เราจะสามารถเห็นขอบของดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน เมฆชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดวงแสง (Halo) เว้นแต่เมื่อมีอุณหภูมิต่ำมากก็อาจเกิดได้ บางครั้ง เมฆชนิดนี้ก็แตกออกจากกัน และบางทีเป็นหย่อม ๆ มองดูรุ่งริ่งคล้ายผ้าขี้ริ้ว


เมฆคิวมูลัส (ค. - Cu) Cumulus

เป็นเมฆก้อน ส่วนมากหนาและมองเห็นขอบนอกชัดเจน ก่อตัวในแนวยืนพอกพูนสูงขึ้นยอดเมฆมลักษณะหมือนโดมหรือหอคอยส่วนที่นูนขึ้นไปมีรูปร่างคล้ายกะหล่ำดอก ส่วนที่แสงอาทิตย์สองทะลุได้จะมีสีขาวสดใจ ฐานของเมฆคิวมูลัสนี้มีสีค่อนข้างดำ ถ้าเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ หรือลอยอยู่โดดเดี่ยวจะแสดงถึงภาวะอากาศดี ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ่นอาจมีฝนตกภายใต้ก้อนเมฆได้ ฝนที่เกิดจากเมฆนี้จะมีลักษณะเป็นฝนซู่เฉพาะแห่ง


ประเภทของเมฆ Species of Clouds

เมฆส่วนใหญ่เราจัดแบ่งเป็นตระกูล(genera) ดังได้อธิบายแล้ว และยังได้จัดแบ่งย่อย ๆ เป็นประเภท (species) โดยพิจารณาจากรูปร่างที่พิเศษแตกต่างกันออกไปหรือจากโครงสร้างภายใน 

เราแบ่งออกเป็น 14 ประเภท ดังนั้น เมฆที่เป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่งยังมีชื่อย่อย ๆ ลงไปเพื่อให้ทราบประเภทอีก โดยใช้หลักดังต่อไปนี้

ก. การจัดตัวของมัน (form) เช่น แผ่เป็นปื้น (banks) เป็นเหมือนม่าน (veils) เป็นแผ่น (sheets) หรือเป็นชั้นในระดับเดียวกัน (layers) ฯลฯ

ข. มิติ (dimensions) พิจารณาจากเนื้อที่ของอนุภาคที่ประกอบกันเป็นเมฆความสูงของเมฆ ฯลฯ

ค. โครงสร้างภายใน (internal structure) พิจารณาจากส่วนประกอบของเมฆ เช่น ผลึกน้ำแข็ง (ice crystals) เม็ดน้ำ (water droplets) หรืออย่างอื่น ๆ ฯลฯ

ง. พิจารณาจากกรรมวิธีที่เป็นที่รู้จักหรือสมมติกรรมวิธีทางฟิสิคส์ซึ่งอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อตัวของเมฆ เช่น เมฆที่เกิดขึ้นเนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขา ฯลฯ


เมฆนิมโบสเตรตัส (นส. - Ns) Nimbostratus

เมฆสีเทาติดต่อเป็นแนวเดียวกันหรือเป็นแผ่น บางครั้งมีสีดำมืด เมฆชนิดนี้มีฝนตกติดต่อกันลงมาเป็นสาย ๆ หรือมีหิมะตกลงมาด้วย และเป็นน้ำฟ้าที่มักตกลงมาถึงพื้นดินไม่มีฟ้าแลบหรือฟ้าร้องหรือลูกเห็บตก เมฆนิมโบสเตรตัสนี้ดำหนาและแผ่กว้างออกไปพอที่จะบังดวงทิตย์ได้หมด เป็นเมฆเกิดในระดับต่ำ ใต้เมฆนี้อาจมีเมฆขรุขระมองดูกระจัดกระจายเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ซึ่งเมฆที่กล่าวนี้อาจรวมหรือไม่รวมกันเข้ากับเมฆใหญ่ก็ได้ เมฆชนิดนี้มักเรียกกันว่า "เมฆฝน"


เมฆคิวมูโลนิมบัส (คน. - Cb) Cumulonimbus

เมฆก้อนใหญ่หนาทึบเกิดโดยการไหลขึ้นของกระแสอากาศ มีรูปลักษณะคล้ายภูเขาหรือหอสูงมหึมา เป็นเมฆที่แสดงถึงสภาวะอากาศไม่ดีเมื่อก่อตัวเต็มที่ ยอดเมฆเป็นแนวเรียบหรือเป็นร่อง ๆ มีลักษณะเป็นฝอยหรือปุย ซึ่งเกือบจะแบนราบและแผ่ออกไปคล้ายรูปทั่ง (anvil) หรือขนนกขนาดใหญ่ ฐานเมฆต่ำขรุขระรุ่งริ่งคล้ายชายผ้าขี้ริ้วห้อยลงมามีสีดำมืด อาจจะอยู่กระจัดกระจายหรือรวมกันอยู่ก็ได้ มักมีฝนตกลงมาด้วย น้ำฟ้าที่ตกลงมาในบางครั้งไม่ทันตกถึงพื้นดินก็ระเหยกลายเป็นไอไปเสียก่อน ( virga) เมฆชนิดนี้เราเรียกว่า " เมฆฟ้าคะนอง "


ไฟเบรตัส (fib) Fibratus

เมฆนี้จัดตัวเป็นแนว ๆ (เป็นสาย ๆ หรือฝอย ๆ ) หรือมีลักษณะเหมือนม่านบาง ๆ ซึ่งแนวเมฆนั้นเกือบเป็นแนวตรงหรืออาจเป็นเส้นใยโค้งในแบบต่าง ๆ โดยตรงปลายสุดของเมฆจะไม่งอโค้ง คำนี้โดยมากใช้กับเมฆตระกูลซีร์รัสและเมฆซีร์โรสเตรตัส เช่น Cirrus Fibratus


อันไซนัส (unc) Uncinus

คือเมฆตระกูลซีร์รัส มีรูปร่างคล้ายเครื่องหมายคอมม่า ( , ) ที่ตรงยอดสุดมีรูปร่างเหมือนตะขอ หรือเป็นเส้น ๆ คล้ายหนวดหรือเป็นพู่ซึ่งปลายบนสุด (ยอด) ของเมฆประเภทนี้ไม่มีลักษณะโป่งเป็นโหนกยื่นออกมากลม ๆ เมฆประเภทนี้เรามักพบบ่อย


สปีสซาตัส (spi) Spissatus

คือเมฆตระกูลซีร์รัสซึ่งมีความหนาขนาดที่พอมองเห็นแสงสีเทา ๆ เมื่อมองผ่านเมฆนี้ไปยังดวงอาทิตย์


ฟอลซซีร์รัส False Cirrus

เมฆชนิดนี้เหมือนกับเมฆ Cirrus spissatus คือเป็นเมฆซีร์รัสที่ค่อนข้างหนา แต่ที่เราเรียกว่า False Cirrus (ซีร์รัสปลอมหรือไม่แท้) เพราะเป็นเมฆที่เกิดจากส่วนบนของเมฆ Cummlonimbus ( คน.)


แคสเตลลานัส (cas) Castellanus

เมฆชนิดนี้มักอยู่ตอนส่วนบนของเมฆ เช่น Cirrus (ซ.) Cirrocumulus (ซค.) เป็นเมฆในแบบของเมฆคิวมูลัส (cumuliform) คือก่อตัวในแนวยืนโดยโป่งหรือเป็นโหนกยื่นสูงขึ้นไปคล้ายปราสาทหรือป้อมปราการ (turrets) และมีช่องโหว่เป็นระยะ ๆ เหมือนเชิงเทินหรือกำแพงเมือง ส่วนบนของเมฆที่มีลักษณะคล้ายป้อมบนกำแพงนั้นจะมีความสูงมากกว่าความกว้างฐานของเมฆติดต่อเป็นฐานเดียวกันและมักจะอยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะที่เป็นป้อมปราการนี้จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อเรามองดูจากด้านข้างของเมฆในระยะไกลเมฆประเภทนี้อยู่ในตระกูล Cirrus (ซ.) Cirrocumulus (ซค.) Altocumulus and Stratocumulus (อค. และ สค.)


ฟลอคคัส (flo) Floccus

เมฆประเภทนี้แต่ละก้อนมีลักษณะเป็นปุยก้อนเล็ก ๆ ที่ปลายมีลักษณะก่อตัวในแนวยืน (cumuliform) และตรงส่วนล่างของมันมีลักษณะขรุขระวิ่นน้อยหรือมากแล้วแต่พฤติการณ์ของเมฆมักมีฝนตกลงมาเป็นสายบาง ๆ แต่ไม่ถึงพื้นดิน หรือตกระหว่างก้อนเมฆต่อก่อนเมฆ (virga) เมฆประเภทนี้อยู่ในตระกูล Cirrus (ซ.) Cirrocumulus and Altocumulus (ซค. และ อค.)


สเตรติฟอร์มิส (str) Stratiformis

คือเมฆแผ่นหรือชั้นที่แผ่ขยายออกไปในทางนอน เมฆประเภทนี้อยู่ในตระกูล Altocumulus (อค.) Stratocumulus (สค.) และบางครั้งเป็น Cirrocumulus (ซค.)


เนบูโลซัส (neb) Nebulosus

คือเมฆที่เป็นกลุ่มมีลักษณะเหมือนม่านบาง ๆ หรือเป็นชั้น ไม่สามารถจะหารายละเอียดของความแตกต่างที่เห็นได้ชัดได้ เมฆประเภทนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cirrocumulus (ซค.) Altocumulus and Stratocumulus (อค. และ สค.)


เลนติคูลาริส (len) Lenticularis

คือเมฆที่มีลักษณะเหมือนเลนซ์หรือเม็ดอัลมอนด์ มักมีรูปร่างยาวเรียวและมีเค้าโครงรอบนอกมองเห็นชัด บางครั้งบางคราวมีสีสรรต่าง ๆ เช่น สีเขียว และสีชมพู ฯลฯ เมฆประเภทนี้มักเกิดหลังภูเขาเนื่องจากเมื่อกระแสอากศพัดผ่านภูเขาแล้วเกิดคลื่นภูเขา (mountain Wave) และเมฆที่มีลักษณะคล้ายเลนซ์นี้จะเกิดอยู่ที่ยอดของคลื่นภูเขา แต่อาจเกิดในที่ ๆ ไม่มีภูเขาก็ได้ เมฆประเภทนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cirrocumulus (ซค.) Altocumulus and Stratocumulus (อค. และ สค.)


แฟรคตัส (fra) Fractus

คือเมฆที่มีลักษณะแตกกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ มองเห็นได้ชัดเจน เมฆประเภทนี้อยู่ในตระกูล Stratus (ส.) และ Cumulus (ค.) เท่านั้น


ฮิวมิลิส (hum) Humilis

คือเมฆคิวมูลัสก้อนเล็ก ๆ ที่มีความสูงเพียงเล็กน้อยและส่วนมากมีลัษณะแบนราบและอยู่ห่าง ๆ กัน


มีดิโอคริส (med) Mediocris

คือเมฆคิวมูลัสที่มีความสูงขนาดปานกลาง ที่ยอดเมฆมีลักษณะเป็นโหนกเล็ก ๆ ยื่นออกมา


คอนเจสตัส (con) Congestus

คือเมฆคิวมูลัสที่ก่อตัวพุ่งสูงขึ้นในแนวยืนอย่างเห็นได้ชัดและมีความสูงมาก การก่อตัวจะนูนออกทางตอนบนของเมฆ (ยอดเมฆ) มีลักษณะคล้ายกะหล่ำดอก


แคลวัส (cal) Calvas

คือเมฆคิวมูโลนิมบัสซึ่งมีการก่อตัวที่ยอดเมฆลดน้อยลง โดยเริ่มจะหยุดก่อตัวในแบบที่เป็นก้อน ๆ หรือโหนกยื่นขึ้นไป (cumuliform) แต่ก็ยังไม่ถึงชั้นแผ่ยอดยื่นออกไปตามแนวนอนในแบบของเมฆประเภทซีร์รัสซึ่งประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง (รูปทั่ง) คืออยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากการก่อตัวในแนวยืนเป็นแผ่ขยายในแนวนอน การก่อตัวของเมฆในช่วงบนในระยะนี้เป็นในรูปของเมฆธรรมดาสีขาวมองดูกระจัดกระจายและเป็นช่วง ๆ มากหรือน้อยแล้วแต่สภาวะของเมฆนั้น

ส่วนใหญ่ เมฆชนิดนี้มักมีฝนซู (showers) ตกลงมาด้วย ตามแบบปกติชื่อคิวมูโลนิมบัสแคลวัส นี้ใช้เรียกเมฆชนิดที่ก่อตัวในแนวยืนสูงใหญ่ซึ่งมีทั้งฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรือลูกเห็บตก ถึงแม้ว่ายอดเมฆจะยังไม่เปลี่บนลักษณะเป็นเมฆประเภทซีร์รัสที่ยอดเเมฆแผ่แบนราบออกไปเป็นรูปทั่งก็ตาม


แคฟิลเลตัส (cap) Capillatus

คือเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งส่วนบนมีลักษณะเป็นเมฆปุยเหมือนขนนก (cirriform) เห็นได้ชัดหรือมีโครงสร้างเป็นร่อง ๆ และส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปทั่งหรือขนนกหรือบางครั้งมีลักษณะเหมือนกลุ่มผมขนาดมหึมา ซึ่งบางครั้งก็ดูเป็นระเบียบบางครั้งก็ไม่เป็นระเบียบ เมฆประเภทนี้ส่วนมากจะมีฝนซูหรือพายุฟ้าคะนองรวมอยู่ด้วย บ่อยครั้งมีลมสควอลล์ (squalls) พร้อมกับอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย และเกิดฝนหรือน้ำฟ้าที่ตกลงมาไม่ถึงดิน (virga) บ่อย ๆ เรามองเห็นได้ชัด



ภาพจาก TNN Oline

 


ชนิดของเมฆ Varieties of Clouds

เป็นการแบ่งแยกย่อยลงไปอีกจากตระกูล (genera) และประเภท (species) ของมัน ขึ้นอยู่กับการจัดตัวของอนุภาคใหญ่ ๆ ภายในก้อนเมฆซึ่งทำให้ก้อนเมฆนั้นโปร่งแสงมากหรือน้อย 

เราพิจารณาจากหัวข้อดังต่อไปนี้

1. ความโปร่งบางของเมฆ (คือเมฆนั้นบังดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้มากน้อยเท่าใด)

2. การจัดตัวของอนุภาคใหญ่ ๆ (macroscopic elements) ภายในเมฆ (เมฆประกอบด้วยอนุภาคซึ่งรวมกันในรูปลักษณะต่าง ๆ )


อินทอร์ตัส (in) Intortus

เมฆซีร์รัส (ซ.) ชนิดที่มีลักษณะเป็นเส้น (ฝอย) เล็ก ๆ งอหงิกไม่ได้ระเบียบมักจะมีสภาพยุ่งเหยิงและเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน


เวอร์ทิเบรตัส (ve) Vertebratus

คือเมฆซึ่งอนุภาคของมันจัดตัวอยู่ในรูปคล้ายกระดูกสันหลัง ซึ่โครง หรือก้างปลา ส่วนมากเป็นเมฆประเภทซีร์รัส


อันดูเลตัส (un) Undulatus

คือเมฆซึ่งอนุภาคของมันจัดตัวในลักษณะที่มองเห็นเป็นลูกคลื่น อาจแยกกันอยู่เป็นหย่อม ๆ หรือรวมอยู่ติดกันเป็นแผ่นหรือเป็นลูกคลื่นที่เรียงกันอยู่เป็นแถว ๆ มองดูสม่ำเสมอ บางครั้งเราจะเห็นลักษณะเป็นลูกคลื่นซ้อนกันอยู่ (double system) เมฆชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cirrocumulus (ซค.) Cirrostratus (ซส.) Altocumulus (อค.) Altostratus (อส.) Stratocumulus (สค.) และ Stratus (ส.)


เรดิเอตัส (ra) Radiatus

เมฆซึ่งแสดงลักษณะเป็นแนวขนานกันแลเห็นกว้างขวางออกไป เนื่องจากการมองเห็นต่างกันตามระยะไกลหรือใกล้ (perspective) ทำให้มองดูเหมือนว่าแนวขนานนี้จะไปรวมกัน ณ จุดหนึ่งจุดใดที่ขอบฟ้า (มองระยะไกล) หรือเมื่อแนวขนานนี้พุ่งข้ามท้องฟ้าจากฟากหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่ง จะมองดูเหมือนว่าแนวเหล่านี้พุ่งไปยังจุดสองจุดที่อยู่ตรงข้ามกัน (toward two opposite points) เราเรียกจุดดังกล่าวว่าจุดแผ่รัศมีหรือจุดรูปตัววี (radiation points, V points, radiant points) เมฆชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cirrus (ซ.) Altocumulus (ค.) Altostratus (อส.) Stratocumulus (สค.) และ Cumulus (ค.)


ลาคิวโนซัส (la) Lacunosus

เมฆเป็นหย่อมหรือเป็นแผ่นหรือเป็นชั้นในระดับเดียวกัน ซึ่งโดยมากค่อนข้างบาง มีรูโหว่กลม ๆ (clear round holes) มองเห็นได้ชัดและกระจายกันอยู่อย่างเป็นระเบียบหรือน้อยแล้วแต่เมฆ และที่รูโหว่นั้นส่วนมากมองเห็นขอบของมันอย่างชัดเจน การจัดตัวของเมฆและช่องว่าง (รูโหว่) ดังกล่าวมักจะมีการจัดตัวเรียงกันเหมือนตาข่ายหรือมองดูคล้ายรังผึ้ง เมฆชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cirrocumulus (ซค.) และ Altocumulus (อค.) และอาจจะอยู่ในตระกูล Stratocumulus (สค.) ได้บ้างแต่หาได้ยากมาก


ดุพลิเคตัส (du) Duplicatus

เมฆเป็นหย่อมหรือเป็นแผ่นหรืออยู่ในระดับเดียวกันมีการจัดตัวแบบพิเศษ คือซ้อนทับอยู่ในระดับต่าง ๆ กัน แต่ห่างกันเพียงเล็กน้อย และบางครั้งอาจเห็นบางส่วนของเมฆรวมเป็นชั้นเดียวกัน เมฆชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cirrus (ซ.) Cirrostratus (ซส.) Altostratus (อส.) Altocumulus (อค.) และ Stratocumulus (สค.)


ทรานสลูซิดัส (tr) Translucidus

เมฆเป็นแผ่นหรือเป็นหย่อมติดต่อกันเป็นบริเวณกว้างในแนวนอน เมฆชนิดนี้ส่วนใหญ่โปร่งแสงพอที่จะสามารถมองเห็นตำแหน่งของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้ เมฆชนิดนี้อยู่ในตระกูล Altocumulus (อค.) Altostratus (อส.) Stratocumulus (สค.) และ Stratus (ส.)


เพอร์ลูซิดัส (pc) Perlucidus

เมฆเป็นแผ่นหรือเป็นหย่อมติดต่อกันเป็นบริเวณกว้างในแนวนอน แต่มีช่องโหว่หรือช่องว่างเล็ก ๆ อยู่ในระหว่างเมฆ ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือท้องฟ้าสีคราม หรืออาจมองเห็นเมฆที่อยู่เหนือขึ้นไปได้ เมฆชนิดนี้อยู่ในตระกูล Altocumulus (อค.) และ stratocumulus (สค.)


โอเพคัส (op) Opacus

เป็นเมฆแผ่นหรือเป็นหย่อมติดต่อกันเป็นบริเวณกว้างในแนวนอน ส่วนใหญ่ของเมฆจะบังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้หมด เมฆชนิดนี้อยู่ในตระกูล Altocumulus (อค.) Altostratus (อส.) Stratocumulus (สค.) Stratus (ส.) ลักษณะเสริมและเมฆที่มาผสมหรือเพิ่มเติม (Supplementary features and accessory clouds) ในบางครั้งเมฆอาจมีลักษณะต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก หรืออาจมีเมฆเล็ก ๆ เข้ามาติดรวมอยู่ด้วย ซึ่งเราเรียกว่า "เมฆที่มาผสม" (accessory clouds) 


เมฆเล็กๆ นี้อาจอยู่แยกกับเมฆกลุ่มหรือก้อนใหญ่หรืออยู่รวมกันก็ได้ เช่น เมฆที่ห้อยติดหรือโป่งยื่นออกมาจากเมฆใหญ่หรือพวกน้ำฟ้าที่ตกลงมาเป็นสายจากเมฆใหญ่ (precititation trails) ฯลฯ เมฆก้อนหนึ่ง ๆ อาจมีลักษณะเสริมหรือมีเมฆที่มาผสมได้หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งหมายความว่าไม่มีลักษณะเฉพาะตัวของมันเองต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ลักษณะเสริมและเมฆที่มาผสมเพิ่มเติมมีดังนี้

-incus (inc) tuba (tub)

-mamma (mam) pileus (accessory) (pil)

-virga (vir) velum (accessory) (vel)

-praecipitatio (pra) pannus (accessory) (pan)

-arcus (arc) (international Cloud Atlas, 1956; บรรณานุกรมเมฆสากล ปี 1956)


อิงคัส (inc) Incus

ลักษณะเสริมของเมฆคิวมูโลนิมบัส (คน.) คือส่วนบนจะมีเมฆยื่นออกไปเป็นรูปทั่ง ตอนบนเรียบมีลักษณะเป็นฝอย ๆ หรือเป็นเส้น ๆ (เป็นเมฆน้ำเข็ง - ice cloud) หรือมองดูเป็นร่องเล็ก ๆ (striated) ลักษณะเมฆรูปดังกล่าวบางทีเรียกว่า เมฆรูปทั่ง (anvil - cloud) หรือหัวพายุฟ้าคะนอง (thunderhead)


แมมมา (mam) Mamma

มีลักษณะที่โป่งย้อยลงมา คล้ายเต้านมสัตว์อยู่ใต้ฐานเมฆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเมฆ Cirrus (ซ.) Cirrocumulus (ซค.) Altocumulus (อค.) Altostratus (อส.) Stratocumulus (สค.) Cumulus (ค.) และ Cumulonimbus (คน.)


เวอร์ก้า (vir) Virga

คือน้ำฟ้าหรือฝนที่ตกลงมาเป็นสาย ๆ ในแนวยืนหรือแนวเฉียง มองดูเหมือนสายน้ำตกหรือม่านบาง ๆ ต่อจากใต้ฐานเมฆลงมา แต่น้ำฟ้านั้นจะไม่ตกลงมาถึงพื้นดิน คือจะเกิดการระเหยกลายเป็นไอไปหมดก่อนถึงพื้นดิน ฝนหรือน้ำฟ้าประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับเมฆตระกูล Cirrocumulus (ซค.) Altocumulus (อค.) Altostratus (อส.) Nimbostratus (นส.) Stratocumulus (สค.) cumulus (ค.) และ Cumulonimbus (คน.)


พรีซิพิเตติโอ (pra) Praecipitatio

คือน้ำฟ้า เช่น ฝน ฝนละออง หิมะ ลูกปรายน้ำแข็ง (ice pellets) และลูกเห็บ ฯลฯ ซึ่งตกลงมาจากเมฆและลงถึงพื้นดิน น้ำฟ้าดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับเมฆตระกูล Altostratus (อส.) Nimbostratus (นส.) Stratocumulus (สค.) Stratus (ส.) Cumulus (ค.) และ cumulonimbus (คน.)


อาร์คัส(arc)

เมฆดำหนามีลักษณะเป็นก้อนม้วนตัวกลม ๆ (roll) ทางแนวนอนริมของเมฆดูกะรุ่งกะริ่งเหมือนชายผ้าขี้ริ้ว เมฆนี้อยู่ส่วนล่างทางด้านหน้าเมฆประเภทคิวมูโลนิมบัส (Cb) มีลักษณะดำทะมึนน่ากลัวเมื่อมันอยู่ติด ๆ กัน หรือกองซ้อนกัน เมฆลักษณะดังกล่าวเกิดกับเมฆ Cumulonimbus (คน.) และเกิดกับเมฆ cumulus (ค.) ในบางครั้งไม่บ่อยนัก


ทิวบา (tub) Tuba

เมฆที่มีลักษณะเป็นลำหรือเหมือนรูปกรวยกลับหัวยื่นลงมาจากฐานเมฆ เมื่อเมฆเสริมนี้ยื่นลงมาถึงพื้นดินจะมองเห็นเมฆวนเป็นวงชัดเจนและรุนแรง (intense vortex) เรียกว่าพายุทอร์เนโดหรือพวยน้ำหรือสเปาท์น้ำ ขาวเรือมักเรียกกันว่าเมฆงวงช้าง เมฆลักษณะดังกล่าวเกิดกับเมฆตระกูล Comulonimbus (คน.) และเกิดกับเมฆ cumulus (ค.) ในบางครั้งไม่บ่อยนัก


ไพลิอัส (pil) Pileus

เป็นเมฆผสมที่แผ่ไปตามแนวนอนไม่กว้างนักมีรูปร่างคล้ายหมวกแก๊บหรือผ้าคลุมผม อยู่เหนือหรือติดอยู่กับตอนบนของเมฆแบบที่ก่อตัวในแนวยืน (cumuliform) ซึ่งมักจะแทรกเข้าไปในเมฆเล็กที่มาผสม ส่วนมากเมฆผสมนี้มองเห็นเป็นกองซ้อน ๆ กัน เมฆนี้เกิดอยู่กับเมฆ (Cumulus (ค.) และ Cumulonimbus (คน.) เป็นส่วนใหญ่


วีลัม (vel) Velum

เป็นเมฆผสมที่มีลักษณะเหมือนม่านบางหรือผ้าคลุมหน้าผู้หญิง (veil) มีขนาดกว้างแผ่ไปตามแนวนอน เมฆเล็ก ๆ นี้อยู่ใกล้ส่วนบนหรือติดกับส่วนบนของเมฆแบบที่ก่อตัวในแนวยืน ซึ่งมักจะแทรกเข้าไปในเมฆผสม เมฆนี้เกิดอยู่กับเมฆ Cumulus (ค.) และ Cumulonimbus (คน.)


แพนนัส (pan) Pannus

คือเมฆชิ้นเล็กชิ้นน้อยมองดูรุ่งริ่งซึ่งบางครั้งก็ประกอบกันเป็นแนวติดต่อกันไป อยู่ข้างล่างของเมฆอื่น แต่บางครั้งก็ติดกับเมฆอื่น เมฆนี้เกิดกับเมฆ Altostratus (อส.) Nimbostratus (นส.) Cumulus (ค.) และ Comulonimbus (คน.) เป็นส่วนใหญ่ จ.เมฆดั้งเดิม (Mother - cloud) คือเมฆที่มีอยู่แต่เดิมก่อนที่จะเปลี่ยนรูปไปหรือเจริญเติบโตขึ้นกลายเป็นเมฆใหญ่ แตกต่างจากเมฆเดิมโดยสิ้นเชิง กรรมวิธีของการเกิดหรือการก่อตัวเรียกว่า "genitus" และ "matatus"

1. "Genitus" คือส่วนหนึ่งของเมฆซึ่งก่อตัวขึ้นและเป็นไปในแบบที่ขยายตัวออกมากหรือน้อยแล้วกลายเป็นเมฆอีกตระกูลหนึ่ง (genus) ต่างจากเมฆตระกูลเดิม และอาจจะรวมหรือไม่รวมอย่กับเมฆเดิม การให้ชื่อเมฆใหม่นี้จะเอาคำว่า "genitus" ต่อท้ายเมฆตระกูลเดิมและเอาชื่อของตระกูลใหม่ไว้ข้างหน้า ตัวอย่างเช่น เมื่อส่วนบนของเมฆคิวมูโลนิมบัสก่อตัวขึ้นกลายเป็นเมฆซีร์รัส (อยู่ข้างบน) เมฆชนิดนี้เราเรียกว่า ซีร์รัส คิวมูโลนิมโบเจนิตัส (Cirrus Cumulonimbogenitus)

2. "Mutatus" คำว่า "mutatus" นี้ใช้เมื่อเมฆทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของเมฆได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโดยสมบูรณ์และกลายเป็นเมฆอีกตระกูลหนึ่งต่างจากเมฆตระกูลเดิม การให้ชื่อเมฆใหม่นี้ใช้ชื่อตระกูลใหม่นำหน้าตามด้วยเมฆตระกูลเดิมและต่อท้ายด้วยคำว่า "mutatus" เช่น เมื่อเมฆตระกูลซีร์โรสเตรตัสกลายเป็นเมฆซีร์รัสทั้งหมด เมฆชนิดนี้เรียกชื่อว่า ซีร์รัส ซีร์ โรสเตรโตมิวเตตัส (Cirrus Cirrostratomutatus)


ความสูงของฐานเมฆ หรือ ซีลลิง Height of cloud base - Ceiling (US)

คือความสูงของฐานเมฆที่ต่ำที่สุดนับจากพื้นดินหรือจากจุดที่กำหนดให้ โดยที่จำนวนเมฆต้องมีค่าเกินกว่าที่กำหนดให้ (เกินครึ่งท้องฟ้า สูงไม่เกิน 20,000 ฟุต) จึงจะรายงานในช่างอุตุนิยม


ฐานเมฆ Cloud base

คือระดับของฐานเมฆที่ต่ำที่สุดในบรรยากาศซึ่งอนุภาคเมฆ (เม็ดน้ำหรือเม็ดน้ำแข็ง) สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า


ยอดเมฆ Cloud base

คือระดับสูงสุดของยอดเมฆในบรรยากาศ ซึ่งอนุภาคของเมฆสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า


ความสูงของเมฆ Vertical extent of a cloud

หมายถึงความสูงของเมฆ โดยวัดระยะทางตามแนวยืนจากฐานถึงยอดเมฆ Cloud etage (level) ชั้นของเมฆ เป็นชั้นของเมฆตระกูลหนึ่ง ๆ เมฆตระกูลต่างกันจะมีความสูงต่างกัน (วัดจากพื้นดิน) เราแบ่งเมฆออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นต่ำ ขอบเขตของเมฆแต่ละชั้นอาจะซ้อนหรือทาบกัน (overlap) เล็กน้อยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับละติจูด ส่วนที่เชื่อมต่อกันนี้แบ่งตามภูมิภาคขั้วโลก (polar region) ภูมิภาคอบอุ่น (temperate region) และภูมิภาคร้อน (Tropical region)


เมฆชั้นต่ำ Low - level cloud - Low cloud

เมฆชั้นต่ำเป็นเมฆตระกูลสเตรตัส (St) และสเตรโตคิวมูลัส (Sc)


เมฆชั้นกลาง Medium - level cloud - Middle cloud

เมฆชั้นกลางเป็นเมฆตระกูลแอลโตคิวมูลัส (Ac) แอลโตสเตรตัส (As) และ นิมโบสเตรตัส (Ns)


เมฆชั้นสูง High - level cloud - High cloud

เมฆชั้นสูงเป็นเมฆตระกูลซีร์รัส (Ci) ซีร์โรคิวมูลัส (Cc) และซีร์โรสเตรตัส (Cs)


เมฆน้ำ Water cloud

คือเมฆที่ประกอบด้วยอนุภาคของน้ำหรือเม็ดน้ำเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีทั้งเม็ดน้ำธรรมดา และหรือเม็ดน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าขีดเยือกแข็ง (ordinary and/or supercooled) โดยไม่มีผลึกน้ำแข็งปนอยู่ด้วย


เมฆผลึกน้ำแข็ง - เมฆน้ำแข็ง Ice - crystal cloud - Ice cloud

คือเมฆที่ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งเพียงอย่างเดียวหรือเกือบทั้งหมด เช่น เมฆซีร์รัส เมฆชนิดนี้มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 ° ซ. มีลักษณะแตกต่างจากเมฆน้ำหรือเมฆผสม คือมองเห็นเป็นฝอยกระจายบาง ๆ


เมฆผสม Mixed cloud

คือเมฆที่ประกอบด้วยอนุภาคน้ำแข็ง (ice particles) และเม็ดน้ำที่เย็นจัดมีอุณหภูมิต่ำกว่าขีดเยือกแข็ง (supercolled droplets of water) ผสมปนกันอยู่ และอนุภาคน้ำแข็งในเมฆชนิดนี้จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอนุภาคของเม็ดน้ำเข้าไปเกาะจับบนอนุภาคน้ำแข็ง เมฆในตระกูลต่าง ๆ นั้น มีเมฆซีร์โรสเตรตัส (Cs) และเมฆซีร์รัส (Ci) เท่านั้นที่เป็นเมฆผลึกน้ำแข็ง เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cb) เป็นเมฆผสม ส่วนเมฆซีร์โรคิวมูลัส (Cc) อาจเป็นเมฆผสมได้ และเมฆแอลโตสเตรตัส (As) แอลโตคิวมูลัส (Ac) คิวมูลัส (Cu) นิมโบสเตรตัส (Ns) และสเตโตคิวมูลัส (Sc) เป็นเมฆผสมในบางคราว เมฆตระกูลอื่นนอกนั้นเป็นเมฆน้ำ


การเกิดเมฆและการจัดตัวของเมฆ Cloud formation and arrangement of clouds

กรรมวิธีของการเกิดแมฆในแบบต่าง ๆ เมฆเกือบทั้งหมดเกิดเนื่องจากอากาศชื้นลอยสูงขึ้นไปแล้วเย็นลงตามกรรมวิธีแอเดียแบติก มีข้อยกเว้นในบางกรณี แต่ก็ไม่บ่อยนักที่เมฆเกิดขึ้นจากการเย็นลงของอากาศที่ลอยขึ้นโดยกรรมวิธีอื่น เช่น เมฆปื้น (banner cloud) หรือ หมอก ซึ่งอาจเกิดเป็นเมฆตระกูลสเตรตัสได้ อากาศที่ลอยสูงขึ้นนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการไม่ทรงตัวของอากาศในแนวยืน (vertical instability) คืออากาศเคลื่อนที่ในแนวยืน เมฆที่เกิดขึ้นได้แก่เมฆตระกูลคิวมูลัสส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังเกิดเนื่องจากการเคลื่อนที่ของอากาศในแบบที่เป็นลูกคลื่น (undulatory motions)ตรงผิวพื้นที่เป็นอินเวอร์ชั่นหรือมีการผกผันตามสูง (inversion surfaces) เช่น เมฆประเภทลูกคลื่น (undulatus species) และเกิดเนื่องจากการยกตัวขึ้นตามลาดเขา เช่น เมฆคิวมูลัส และเมฆรูปเลนซ์ (lenticularis species) หรือเกิดเนื่องจากมีแรงยกตัวให้อากาศลอยขึ้นตามแนวหน้าซึ่งเป็นแนวลาดชันของแนวปะทะอากาศ เช่น เมฆแอลโตสเตรตัส และประเภทเมฆแผ่น (stratiform clouds)


เมฆที่เกิดจากการพาความร้อน Convective cloud

เป็นเมฆชนิดที่ก่อตัวในแนวยืน เกิดในชั้นของบรรยากาศที่ไม่ทรงตัว เนื่องจากการร้อนขึ้นที่ระดับล่าง (ของชั้นที่กล่าวถึง)


เมฆอินเวอร์ชั่น Inversion cloud

เป็นเมฆที่เกิดในระดับที่มีอุณหภูมิผกผันตามสูงหรือระดับอินเวอร์ชั่น คำนิยามนี้ไม่ค่อยใช้กันแพร่หลาย


เมฆแนวปะทะย่อย Subfrontal cloud

เมฆที่เกิดขึ้นต่ำกว่าพื้นแนวปะทะอากาศ (frontal surfaces - ขอบเขตที่มีคุณสมบัติของอากาศ เช่น ความแน่น อุณหภูมิ ฯลฯ ในแนวนอนไม่ต่อเนื่องกัน) เกิดขึ้นโดยการปั่นป่วน (turbulence) ของกระแสอากาศชื้นเนื่องจากฝนตกในแนวปะทะอากาศ


เมฆที่เกิดเนื่องจากอากาศปั่นป่วน Turbulence cloud

เป็นเมฆประเภทเมฆแผ่น (stratiform cloud) เกิดขึ้นในส่วนบนของชั้นบรรยากาศที่มีการปั่นป่วน


เมฆอัพไกลด Upglide cloud

เมฆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกลั่นตัวของมวลอากาศชื้นพร้อมกับการไหลขึ้นของกระแสอากาศเหนือพื้นแนวปะทะอากาศที่อากาศทั้งสองมวลมีคุณสมบัติไม่ต่อเนื่องกัน (frontal surface of discontinuity) คำนิยามนี้ไม่ค่อยใช้กันในภาษาอังกฤษ


เมฆปื้น Cloud bank

เป็นเมฆที่มองเห็นได้ชัด (แต่ต้องมองในระยะไกล) แผ่ออกในแนวนอนส่วนใหญ่อยู่ในระดับเดียวกัน ปกคลุมส่วนหนึ่งของขอบฟ้า เมฆนี้แผ่กว้างไปไกล แต่จะไม่แผ่มาเหนือศรีษะ ของผู้สังเกต (เนื่องจากเมฆอยู่ไกล)


เมฆแท่ง Cloud bar

เป็นเมฆหนาจัดตัวแผ่ติดต่อกันเป็นแนวยาว ปรากฏอยู่ที่ขอบฟ้าก่อนที่พายุหมุน (ใต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน) อย่างรุนแรงจะเคลื่อนเข้ามา คือเป็นเมฆรอบนอกสุดของมวลเมฆที่อยู่ตรงส่วนกลางของพายุ (central cloud mass) หรือเมฆใดก็ได้ที่มีลักษณะแผ่ติดต่อกันยาวและแคบโดยไม่เปิดช่องโหว่ให้เห็น


ดงเมฆ ป่าเมฆ Cloud forest

เมฆซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน ส่วนบนของเมฆโป่งยื่นออกมาและเป็นลำพุ่งขึ้นคล้ายดอกเห็ดหรือหอสูง เรียงซ้อนกันอยู่คล้ายต้นไม้ที่ขึ้นในป่า


เมฆชั้น Cloud layer

เป็นแนวของเมฆที่มีการจัดตัวอยู่ในระดับเดียวกัน คือแต่ละก้อนมียอดและฐานเมฆอยู่ในระดับใกล้เคียงกันหมด แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเมฆชนิดเดียวกันและอาจอยู่ติดกันหรือห่างกันก็ได้


เมฆแผ่น Cloud sheet

เป็นแนวของเมฆที่มีการจัดตัวต่อเนื่องกันไปเป็นแผ่นบางและแผ่กว้างไปไกลในแนวนอน


เมฆทาง Cloud street

เป็นเมฆที่จัดตัวเป็นแนวขนานกับทิศทางลม และเท่าที่ปรากฏแก่สายตาเมื่อมองไกลออกไปจะเห็นเป็นทางสอบเข้าหากันสู่จุด ๆ หนึ่งที่ขอบฟ้า หรือเมื่อแนวขนานพาดผ่านท้องฟ้าจะมองเห็นสอบเข้าหากันที่จุดสองจุดที่ขอบฟ้าซึ่งอยู่ตรงกันข้าม (radiation points) เมฆที่ปรากฏออกมาเป็นแบบ "เมฆทาง" คือ เมฆในตระกูลซีร์รัส แอลโตคิวมูลัส แอลโตสเตรตัส และ สเตรโตคิวมูลัส เช่น เมฆคิวมูลัส มีดิโอคริส (Cumulus mediocris)


เมฆม่าน Cloud veil

เป็นเมฆซึ่งจัดตัวเป็นแผ่นบาง ๆ (cloud sheet) และโปร่งแสงพอที่จะสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้


เมฆก่อตัวในทางตั้ง Cumuliform cloud

เมฆประเภทคิวมูลัส (Cu) ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปของการโป่งยื่นขึ้นในในแนวยืน เมื่อเมฆชนิดนี้จัดตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีฐานร่วมกันจะมองเห็นเป็นรูปคล้ายป้อมปราการหรือโดม จัดอยู่ในประเภท (species) "Castellanus" แต่ถ้ามันก่อตัวแยกกันจะมองเห็นเป็นปุยคล้ายหนวดหรือเป็นพู่ ๆ จัดเข้าอยู่ในประเภท "floccus" (ดูประเภท - species ของเมฆ)



ภาพจาก AFP

 


เมฆพายุเฮอร์ริเคน หรือใต้ฝุ่น Hurricane cloud

เมฆซึ่งมีลักษณะเหมือนกำแพงดำทะมึน บางครั้งเราจะเห็นก่อนหน้าพายุ คือเกิดขึ้นก่อนหน้าพายุหมุนเข้ามา


เมฆม้วนตัว Potor cloud

บางครั้งเรียกว่า เมฆกลิ้ง (roll cloud) เป็นเมฆในแบบของเมฆแอลโตคิวมูลัส ที่มีลักษณะม้วนตัวหรือกลิ้งตัว แกนหมุนของมันอยู่ในแนวนอน อาจเกิดขึ้นตรงส่วนบนของกระแสลมวนที่มีบริเวณกว้างและไม่เคลื่อนตัว (large stationary eddies) และบางทีเกิดในบรรยากาศในระดับต่ำทางด้านหลังเขา (ด้านปลายลม) ซึ่งมีคลื่นภูเขา (mountain waves) เกิดขึ้น โดยที่แกนหมุนของกระแสอากาศในเมฆจะขนานกับเทือกเขา


ทะเลเมฆ Sea of cloud

เมฆซึ่งจัดตัวอยู่ในระดับเดียวกันโดยตอนบนหรือผิวหน้ามีลักษณะเป็นคลื่นซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าความกว้างของลูกคลื่นแตกต่างกันมาก ลักษณะทั้งหมดดังกล่าวนี้เมื่อมองลงมาจะเห็นเหมือนคลื่นในทะเล (มองจากที่สูง เช่น บนเครื่องบิน)


เมฆในลมสควอลล์ Squall cloud

เป็นเมฆเล็กบางครั้งเกิดขึ้นข้างใต้ (ต่ำกว่า) ริมขอบด้านหน้าของพายุฟ้าคะนองมีลักษณะหมุนเป็นวง (whirl) อยู่ระหว่างกระแสอากาศที่พุ่งขึ้นและลง (updraft and downdraft) ทั้งสองข้างของเมฆพายุฟ้าคะนอง


เมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่น Stratiform cloud

เมฆซึ่งจัดตัวแผ่ออกเป็นแผ่นในแนวนอนแผ่กว้างออกไป เป็นลักษณะของเมฆตระกูลสเตรตัส (St) เมฆดังกล่าวนี้เป็นประเภท (species) stratiformis


จุดแผ่รัศมี Radiation point

เป็นจุด ๆ หนึ่งที่ขอบฟ้าซึ่งเมื่อเรามองตามแนวเมฆซึ่งขนานกันไกลออกไปสุดสายตา จะดูคล้ายกับว่าแนวเมฆนั้นรวมเข้าหากันที่จุด ๆ นั้น เมื่อแถบหรือแนวของเมฆนั้นพาดผ่านท้องฟ้าจากฟากหนึ่งมาอีกฟากหนึ่ง เราจะเห็นเสมือนว่าแนวนั้นสอบเข้าหากันยังจุดสองจุดที่อยู่ตรงกันข้ามกัน ณ ขอบฟ้า มีลักษณะคล้ายตัว V (V points, vanishing points) ซึ่งก็คือจุดแผ่รัศมี (Radiation point)


เมฆตามเทือกเขา หรือเมฆภูเขา Orographic Clouds

เมื่ออากาศพัดผ่านเนินเขา ภูเขา หรือสันเขา จะเกิดเมฆขึ้นตามข้างล่างแนวเขา หรือที่ยอดหรือเหนือระดับยอดของสิ่งกีดขวาง (เช่น ภูเขา) เมฆตามเทือกเขาอาจมีความแตกต่างไปจากเมฆตระกูลต่าง ๆ แม้กระนั้นเมฆที่เกิดตามภูเขาก็จัดแบ่งเข้าตระกูลใดตระกูลหนึ่งใน 10 ตระกูลได้ ส่วนมากจะเข้าอยู่ในตระกูลแอลโตคิวมูลัส (Ac) สเตรโตคิวมูลัส (Sc) และคิวมูลัส (Cu) เมฆที่เกิดตามเทือกเขานี้เกี่ยวข้องกับการแผ่รังสีความร้อนออกไปจากผิวพื้นโลก (terrestrial relief) โดยปกติเมฆนี้เคลื่อนที่ช้ามากถึงเม้ว่าลมในระดับเดียวกันจะแรงก็ตาม


เมฆรูปธง หรือเมฆขนนก Banner cloud

เป็นเมฆที่อยู่แถบภูเขาไม่เคลื่อนที่ เกิดใกล้ ๆ ยอดเขาหรือยอดดอยมีรูปร่างคล้ายธงหรือขนนก แผ่เป็นทางไปตามลมหลังเขาเมื่อมีลงแรง บางทีเรียกว่า ควันภูเขา "smoking mountain" เมฆชนิดดังกล่าวจะต้องไม่เอาไปปนกับหิมะซึ่งพัดจากยอดเขาไปตามลม (snow banner)


เมฆ (ยอดเขา) รูปหมวดแก๊ป หรือเมฆคลุม Cap Cloud

มีลักษณะเหมือนหมวกแก๊ปครอบคลุมอยู่บนยอดเขาหรือยอดดอยเล็ก ๆ ไม่เคลื่อนที่ เมฆนี้ให้น้ำฟ้าแต่เพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีเลย หรือเป็นเมฆที่เกิดเหนือภูเขาที่กระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ มองเห็นเป็นแถบรอบ ๆ ภูเขา เกิดขึ้นจากการที่อากาศชื้นถูกยกตัวขึ้นลาดเขาแล้วเย็นลง และกลั่นตัวเป็นเมฆ เมฆดังกล่าวเหมือนกับเมฆที่มาผสม ชื่อไพลิอัส (pileus) (ดู Accessory cloud, pileus)


เมฆยอดเขา Crest cloud

เป็นเมฆที่ไม่เคลื่อนที่เกิดขึ้นตามแนวสันเขา และอยู่บนยอดหรือเหนือยอดเขาขึ้นไปเล็กน้อยทางด้านปลายลม การก่อตัวและการคงรูปของเมฆนี้เหมือนกับเมฆรูปหมวกแก๊ป


เมฆเฟิน Fohn cloud

เป็นเมฆซึ่งเกี่ยวเนื่องกับลมตกเขา คือลมเฟิน (Fohn or foehn) จำแนกเป็นเมฆประเภท lentil (ประเภท lenticularis) ซึ่งเกิดขึ้นในคลื่นกระแสอากาศหลังเขา (leewave) โดยขนานกับแนวสันเขา


กำแพงเมฆเฟิน - ปื้นเมฆเฟิน Fohn wall - Fohn bank

เมื่อผู้ตรวจอยู่หลังเขาด้านปลายลม จะมองเห็นเมฆมีลักษณะเหมือนกำแพงตั้งสูงขึ้น เมฆที่ก่อตัวในแนวยืนเป็นเมฆฝนเกิดอยู่ตรงยอดเขาด้านรับลม และขนานกับแนวสันเขาและขาดหายไปทันทีที่ผ่านตรงสันเขา


ช่องโหว่เมฆเฟิน Fohn break - Fohn gap

ในช่วงที่มีลมตกเขาหรือที่เรียกว่า ลมเฟิน จะมีช่องโหว่เกิดขึ้นในเมฆหรือเมฆกระจายออกในระดับที่สูงกว่าภูเขา เมฆเหล่านี้จะกระจายออกก่อนที่จะขึ้นสูงเหนือภูเขา แล้วจะรวมตัวเข้าหากันอีกในเวลาต่อมา (หลังจากผ่านภูเขา)


เมฆในคลื่นภูเขา Wave cloud

เป็นเมฆตามเทือกเขา ซึ่งเกิดที่ยอดคลื่นภูเขา (mountain wave) เนื่องจากกระแสอากาศพัดผ่านเทือกเขาหรือภูเขาสูง และเกิดทางด้านหลังเขา เมฆชนิดนี้อาจจะเกิดขึ้นที่ระดับต่าง ๆ กันพร้อมกัน บางครั้งมีกระแสอากาศหมุนวนคงที่ (stationary eddies) อยู่ด้วยในระดับต่ำ แกนหมุนของกระแสอากาศจะอยู่ในแนวนอนหรืออาจจะเกิดเมฆม้วนตัวขึ้นได้ (ดู rotor cloud)


เมฆสีมุก หรือเมฆเนครีอัส Nacreous clouds

เป็นเมฆที่เหมือนกับเมฆ (Cirrus (ซ.) หรือ Altocumulus lenticularis คือมีลักษณะคล้ายเลนซ์และมีสีสรรต่าง ๆ ชัดเจน เช่น สีเขียว ชมพู หรือสีรุ้ง ฯลฯ เหมือนกับกาบหอยมุก (mother of pearl) เราจะมองเห็นสีต่าง ๆ สว่างสวยงามเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปหลายองศาแล้ว และปรากฏอยู่ไม่สูงนัก


เมฆนอคติลิวเซน หรือเมฆสี Noctilucent clouds

เป็นเมฆที่มีลักษณะเหมือนเมฆซีร์รัสบาง ๆ มีสีฟ้าหรือสีเงินหรือบางครั้งมีสีส้มถึงสีแดง มองเห็นได้ในคืนเดือนมืด เมฆนี้อยู่สูงมากและเห็นได้ยาก ปรากฏให้เห็นในยามสนธยา (twilight) เท่านั้น


คอนเดนเซชั่นเทรล หรือคอนเทรล หรือพวยการกลั่นตัว Condensation trail (contrail)

เมฆที่เกิดขึ้นตามหลังเครื่องบิน เมื่อเครื่องบิน ๆ ผ่านไปในบรรยากาศที่แจ่มใสเย็นและมีความชื้นสูงพอ มีลักษณะเป็นแนวยาวสีขาวสว้างอยู่ในระดับบิน และมักเกิดขึ้นชั่วระยะสั้น ๆ


ดิสซิปเพชั่นเทรล หรือดิสเทรล หรือพวยอันตรธาน Dissipation trail (Distrail)

เป็นพฤติการณ์ที่เกิดตรงกันข้ามกับ condensation trail คือเมื่อเครื่องบิน ๆ ผ่านไปในเมฆบางจะเกิดเป็นทางโล่ง (เมฆหายไป) ตามหลังแนวที่เครื่องบิน ๆ ผ่าน


เอกซซอสท์เทรล หรือพวยไอเสีย Exhaust trail

คือ condensation trail ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเย็นตัวของไอเสียที่ปล่อยออกอย่างแรงจากท้ายเครื่องบินที่บินในระดับสูง ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ไอเสียนี้มีไอน้ำอยู่มาก


แอโรไดแนมิกเทรล Aerodynamic trail

เป็น condensation trail ที่เกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินผ่านบรรยากาศ อากาศที่พัดผ่านลำตัวเครื่องบินที่มีความเร็วสูงนั้นจะขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว และเย็นตัวลงตามกรรมวธีทางพลศาสตร์ (dynamic cooling) และเฉพาะอย่างยิ่งเกิดที่ปลายปีกเครื่องบิน หรือใบพัดซึ่งมีอากาสหมุนวน แต่สภาวะดังกล่าวนี้เกิดไม่บ่อยครั้งนักและเกิดเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อเทียบกับ exhaust trail


เมฆที่เกิดจากน้ำตก Clouds from waterfalls

น้ำตกสูง ๆ จะทำให้เกิดละอองน้ำ (ฝอยน้ำ) และทำให้อากาศรอบ ๆ อิ่มตัวน้ำที่ตกลงมาจะถูกชดเชยด้วยกระแสอากาศไหลขึ้นในบริเวณรอบ ๆ น้ำตกทำให้ละอองน้ำในอากาศหรืออากาศอิ่มตัวลอยสูงขึ้นแล้วรวมตัวเป็นเมฆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเมฆคิวมูลัสเกิดขึ้นอยู่เหนือน้ำตกนั้น


เมฆที่เกิดจากไฟไหม้ Cloud from fires

ผลจากการเผาไหม้ครั้งใหญ่ ๆ เช่น ไฟป่า หรือไฟไหม้ที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำให้เกิดเมฆดำมืดแผ่เป็นลำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจสูงขึ้นไปถึงยอดเมฆหรือแผ่ออกในระดับใด ระดับหนึ่ง เมฆที่เกิดขึ้นคล้ายกับเมฆที่เกิดจากการพาความร้อนขึ้นไปในระดับสูง (convective clouds) คือ เมฆคิวมูลัส คอนเจสตัส (Cumulus congestus) และคิวมูโลนิมบัส แต่การเกิดและการก่อตัวพุ่งขึ้นของมันรวดเร็วกว่าเมฆที่เกิดจากการพาความร้อนขึ้นไปในระดับสูงแบบธรรมดามาก ผลที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น จากไฟป่าในเขตร้อนหรือจากไฟไหม้ป่าใหญ่ ๆ อาจถูกลมพัดพาไปเป็นระยะทางไกล ๆ และทำให้เกิดเมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางคล้ายม่านบางสามารถมองผ่านเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้ ผลจากการเผาไหม้จะให้ไอน้ำออกมาเพียงพอพร้อมทั้งให้ความร้อนที่มีปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดเมฆคิวมูลัสและคิวมูลนิมบัสอย่างแท้จริงได้ พร้อมทั้งให้น้ำฟ้าและพายุฟ้าคะนองได้


เมฆภูเขาไฟระเบิด Clouds due to volcanic eruptions

เมฆที่เกิดเนื่องจากภูเขาไฟระเบิดพลุ่งขึ้น ดูทั่ว ๆ ไปคล้ายกับเมฆคิวมูลัสก่อตัวโป่งยื่นขึ้นไปอย่างเร็วมาก มันอาจแผ่ออกเป็นบริเวณกว้างมากในระดับสูง ในกรณีดังกล่าวท้องฟ้าจะดูเหมือนแต้มสีอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายอาทิตย์ เมฆดังกล่าวประกอบด้วยผงฝุ่นหรืออนุภาคที่เป็นของแข็งอื่น ๆ แต่บางส่วนของเมฆอาจประกอบด้วยเม็ดน้ำทั้งหมดและส่วนนี้จะให้น้ำฟ้าลงมา เมฆเหล่านี้อาจเกิดการถ่ายเทปะจุไฟฟ้าขึ้นได้อย่างรุนแรง


เมฆที่เกิดจากการอุตสาหกรรม Clouds resulting from industry

เมฆที่เกิดเนื่องจากโรงงานปล่อยควันออกมา เมฆชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากหลาย ๆ อย่าง ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เช่น เมฆที่เกิดจากกลุ่มควันและไอน้ำในย่านโรงงานอุตสาหกรรม เมฆควัน (smoke cloud) ที่ทำขึ้น จุดประสงค์เพื่อป้องกันการจับแข็ง (frost) ของเม็ดน้ำ และเมฆที่เกิดขึ้นจากก๊าซที่เป็นยาฆ่าแมลงหรือผงยาฆ่าแมลงในย่านเกษตรกรรม


เมฆที่เกิดจากการระเบิด (เมฆดอกเห็ด) Clouds resulting from explosion (Mushroom cloud)

เมฆที่เกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรง มีควันและฝุ่นละอองอยู่ในเมฆนั้นรูปร่างเหมือนดอกเห็ด เหนือเมฆนี้ บ่อยครั้งจะเห็นเมฆที่มาผสมเพิ่มเติม (accessory clouds) ชนิดวีลัมหรือไพลิอัส (velum or pileus) (ดู velum และ pileus) ข้อสังเกต คำว่า "เมฆรูปดอกเห็ด - Mushroom cloud" ใช่บ่อย ๆ กับเมฆที่มีรูปร่างเหมือนดอกเห็ดซึ่งเกิดขึ้นจากการระเบิดของระเบิดปรมาณู


จำนวนเมฆ (Cloud Amount)

คำว่า "partical cloud amount" หรือเพื่อให้ง่ายเข้า ใช้ "จำนวนเมฆ - cloud amount" เป็นคำที่ใช้แสดงส่วนของเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้า และบอกทั้งตระกูล (genus) ประเภท (species) ชนิด (varieties) ระดับชั้น (layer) หรือเมฆที่รวมกัน (combination) อยู่ด้วย


เมฆทั้งหมดที่ปกคลุมท้องฟ้า Total cloud cover

หมายถึงเมฆทั้งหมดที่มองเห็นชัดด้วยตาซึ่งปกคลุมท้องฟ้าอยู่บางส่วน


ท้องฟ้า - สภาวะของท้องฟ้า หรือพฤติภาพของท้องฟ้า Sky - State of sky

เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่อธิบายถึงสภาวะของบรรยากาศที่มีเมฆปกคลุมท้องฟ้าอยู่ เป็นจำนวน (amount) เท่าใด มีตระกูล (genus) ความสูง (height) หรืออื่น ๆ เช่น ทิศทางและการเคลื่อนที่ของเมฆอย่างไรในขณะที่ทำการตรวจ


ภาพจาก TNN Online

 

ท้องฟ้าแจ่มใส Clear sky

หมายถึงสภาวะที่ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างไม่มีเมฆหรือสิ่งบดบังอื่น ๆ หรือมีเมฆอยู่บ้าง แต่น้อยกว่า 1 ส่วน ใน 8 ส่วนของท้องฟ้า (แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 8 ส่วน)


ท้องฟ้าโปร่ง Sky slightly clouded or Fair

หมายถึงสภาวะที่ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างเป็นส่วนมาก มีเมฆปกคลุม 1/8 ถึง 2/8 ส่วนของท้องฟ้า


ท้องฟ้ามีเมฆเป็นส่วนมากหรือมีเมฆค่อนข้างมาก (เมฆคลุ้ม) Cloud sky

หมายถึงสภาวะที่ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมอยู่ 3/8 , 4/8 หรือ 5/8 ส่วนของท้องฟ้า


ท้องฟ้ามีเมฆมาก หรือมีเมฆคลุ้มมาก Very cloudy sky

หมายถึงสภาวะของท้องฟ้ามีเมฆ 6/8 หรือ 7/8 ส่วนของท้องฟ้า


เมฆเต็มท้องฟ้า Overcast sky

หมายถึงสภาวะที่มีเมฆเต็มท้องฟ้าหรือมีเมฆ 8/8 ส่วนของท้องฟ้า


การเปิดของท้องฟ้า Clearing - clearance

1. จำนวนเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้าลดลงจากเมื่อครั้งหลังที่มีเมฆมาก

2. เวลาเมื่อเมฆลดจำนวนลง

3. เมฆเปิดช่องโหว่มากขึ้น


เส้นเมฆเท่า Isoneph

คือเส้นที่ลากผ่านจุดหรือสถานีต่าง ๆ บนพื้นโลกที่มีค่าเฉลี่ยของเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้าอยู่เท่ากัน


ทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนตัวของเมฆ Direction and speed of movement of cloud

ทิศทางการเคลื่อนตัวของเมฆเรานับจากทิศที่เมฆเคลื่อนเข้ามาและวัดความเร็วของเมฆในแนวนอน









ภาพจาก AFP / @tanomtham

ข่าวที่เกี่ยวข้อง