รีเซต

ภาวะ "เด็กอ้วน" พ่อแม่ควรรู้ สาเหตุสำคัญเกิดจาก อาหาร เหล่านี้?

ภาวะ "เด็กอ้วน" พ่อแม่ควรรู้ สาเหตุสำคัญเกิดจาก อาหาร เหล่านี้?
TNN ช่อง16
2 สิงหาคม 2565 ( 16:27 )
144

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญขัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภาวะเริ่มอ้วน และอ้วนในเด็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน HDC กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565  


โดย พบเด็กอายุ 6 - 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วน และอ้วน ร้อยละ 13.7 , เด็กวัยรุ่น 15 - 18 ปี พบร้อยละ 13.1 เกินค่าเป้าหมายที่กำหนดให้ไม่เกิน ร้อยละ 10 สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง


ซึ่งกลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และบริโภคของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและจ่ายด้วยตนเอง ดังนั้น การพัฒนามาตรการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร และเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรสนับสนุนทั้งการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย  กลุ่มเด็กต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู และพัฒนามาตรการคุ้มครองเด็กด้วยกฎหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง


ทั้งนี้ หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สุขภาวะเด็กและเยาวชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสื่อเด็กและเยาวชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 100 หน่วยงาน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนามาตรการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ฉลากอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพควรมีสัญลักษณ์ให้เด็กอ่านและเข้าใจง่าย ควบคุมการโฆษณา โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล ซึ่งเด็กเข้าถึงได้ง่าย และควรมีการกำกับ ติดตาม การดำเนินการของโรงเรียน ในการห้ามทำการตลาดอาหารเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อสุขภาพในโรงเรียน รวทั้งให้ความรู้ด้านโภชนาการ การป้องกันเท่าทันสื่อโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว              


ด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อํานวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ช่องว่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนในเด็กของประเทศไทย คือ มาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้ว่าประเทศไทยมีมาตราการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมกลยุทธ์การตลาด และไม่ได้มุ่งเป้าหมายปกป้องเด็กจากอาหารและเครื่องดื่มไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงโดยตรง จึงมีข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตราการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 ประเด็นหลัก คือ 


1) ปกป้องและคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNCRC) จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 

2) ควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบตอสุขภาพเด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์การจำแนกอาหารมาตฐานโภชนาการของประเทศไทย โดยสำนักโภชนาการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำเกณฑ์ 

3) แนวทางในการควบคุมการตลาดฯ ควรพิจารณา  ตามชุดข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเชฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) และหลักส่วนประสมทางการตลาด ภายใต้ความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย


ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา สสส. ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงาน   ประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทาง และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574)   สสส. จึงสนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยควรเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อช่วยปิดช่องว่างทางกฎหมายที่มีอยู่ ร่วมกับการให้ความรู้แก่ประชาชนและเด็ก เพื่อเป็นกลไกในการปกป้องคุ้มครองเด็ก




ที่มา กรมอนามัย

แฟ้มภาพ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง