รีเซต

นกพิราบกว่า 7 พันตัว เข้าแข่งนกพิราบนานาชาติพัทยา ครั้งที่ 5

นกพิราบกว่า 7 พันตัว เข้าแข่งนกพิราบนานาชาติพัทยา ครั้งที่ 5
PakornR
9 มกราคม 2564 ( 15:59 )
389

การแข่งขันนกพิราบ (The 5th Pattaya International Pigeon Race) ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พร้อมเงินรางวัลรวม 35.3 ล้านบาท โดยเป็นการผนึกกำลังกันระหว่าง เมืองพัทยา ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และพัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล พีเจ้น เรซ (PIPR) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา มีพิธีนำนกพิราบขึ้นแข่งขัน จำนวน 3,653 ตัว จากจำนวนทั้งหมด 7,401 ตัวที่เข้าร่วมแข่งขัน จาก 39 ประเทศ นำมาประทับตราโลโก้การแข่งขันนานาชาติพัทยา  ก่อนจะนำขึ้นรถจาก สำนักงานใหญ่ บริษัท พัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล พีเจ้น จำกัด อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อนำไปยังที่จุดปล่อย ภายใต้มาตรการ New Normal ที่รัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด  ซึ่งมี นายสิริเดช โรจนารุณ กรรมการบริษัท พัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล พีเจ้น จำกัด และ มร.อีทส์วาน บาร์โดส ประธานสมาพันธ์นกพิราบแข่งนานาชาติ (FCI) มาร่วมประทับตราและส่งนกพิราบเข้าสู่สนามแข่งขัน

 

 

 

 

 

 

นายสิริเดช โรจนารุณ กรรมการบริษัท พัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล พีเจ้น เรซ จำกัด กล่าวว่า นับว่าวันนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งในการแข่งขัน นกพิราบแข่งนานาชาติพัทยา เพราะปีนี้ มีนกพิราบเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 7,401 ตัว ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันขึ้นมาตลอด 4 ครั้ง ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ก็ยังมีผู้สนใจและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ  ซึ่งการจัดแข่งขันในปีนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ตามที่รัฐบาลกำหนด ห้ามมิให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในปัจจุบัน แต่เรามีขั้นตอนต่างๆในการส่งนกพิราบเข้าร่วมการแข่งขัน 

 

 

"โดยเริ่มตั้งแต่ ให้ผู้เข้าแข่งขันตรวจสุขภาพนกพิราบโดยสัตวแพทย์ที่ได้รับการรับรองของประเทศนั้นๆ ก่อนนำส่งทางเครื่องบินมาประเทศไทย ต่อด้วยเข้ากรงกักกันที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เป็นเวลา 21 วัน ซึ่งตลอดระยะเวลาการเลี้ยงและฝึกซ้อมนกพิราบแข่ง จะมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์เข้าตรวจสุขภาพนกพิราบแข่งตามโปรแกรม ที่สำคัญเราได้ใช้อุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการอ่านห่วงขาอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดไว้กับนกพิราบทุกตัวในการตัดสิน ผู้ส่งนกพิราบแข่งจึงสามารถตรวจสอบผลการแข่งขันได้เรียลไทม์ผ่านทางเว็บไซต์ รวมทั้งติดตามการถ่ายทอดสดการปล่อยนกและภาพนกบินกลับกรงได้อีกด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าการแข่งขันครั้งนี้ถึงแม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้ผู้เลี้ยงนกไม่ได้มาร่วมชมในสนามจริง แต่ทุกท่านสามารถลุ้นนกพิราบของท่านได้ตลอดเวลาตั้งแต่การปล่อยนกจนถึงจุดหมาย"  นายสิริเดช กล่าว

 

 

ด้าน มร.อีทส์วาน บาร์โดส ประธาน FCI กล่าวว่า เป็นการเริ่มต้นปีที่ดี กับการแข่งขันนกพิราบนานาชาติ ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้ทุกอย่างในโลกนี้หยุดชะงัก แม้แต่วงการกีฬาทุกชนิดก็แข่งขันแทบไม่ได้ มีเพียงแต่นกพิราบแข่งขันนานาชาติ ที่แข่งขันได้ ซึ่งโควิด-19 ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อนกพิราบ งานนี้จึงถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด ซึ่งต้องขอชื่นชม สนามแข่งขันนกพิราบพัทยา เป็นสถานที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ตนมาสัมผัสการดูแลนกพิราบของเจ้าหน้าที่ทุกคน ต้องยอมรับว่าสนามแห่งนี้มีมาตราฐานที่สูงมาก นกพิราบทุกตัวได้รับการดูแลอย่างดี เจ้าของนกสามารถดูความเคลื่อนไหวผ่านการไลฟ์สดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนกที่ไปร่วมการแข่งขันสามารถกลับเข้าสู่กรงจุดหมายเกือบ 100% นับว่าเป็นรายการที่ดีที่สุดของโลกในตอนนี้  

 

 

สำหรับการแข่งขันจะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 ม.ค.64 โดยแบ่งการชิงชัยเป็น 3 ประเภทได้แก่ ระยะทาง 530 กิโลเมตร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เริ่มต้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี, ระยะทาง 430 กิโลเมตร ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เริ่มต้นที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ, ระยะทาง 330 กิโลเมตร ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มต้นที่ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ โดยทั้ง 3 ระยะทาง จะถึงจุดสิ้นสุด ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท พัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล พีเจ้น เรซจำกัด อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  และการแข่งขันนกยอดเยี่ยม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ระยะทางสะสมตั้งแต่ 330 - 530 กิโลเมตร

 

สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามชมการแข่งขันได้ทาง www.pattayaoneloftrace.com

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง