รีเซต

ทองคำ 2020 สัญญาณเตือน “ฟองสบู่” มาแล้ว?

ทองคำ 2020  สัญญาณเตือน “ฟองสบู่” มาแล้ว?
TNN ช่อง16
4 สิงหาคม 2563 ( 10:24 )
1.3K


การพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดในเวลานี้  แต่ยิ่งโลหะมีค่าชนิดนี้ทำสถิติเข้าใกล้ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ยิ่งมีหลายคำถามให้น่าค้นหาคำตอบ เป็นต้นว่า ทองคำจะไปต่อ หรือพอแค่นี้  บทบาทเฮดจ์ฟันด์ และกองทุน ETF หรือมีความเสี่ยงอะไรที่ต้องพึงระวังหรือไม่ ลองไปขยายประเด็นค้นคำตอบกัน

การพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดในเวลานี้  แต่ยิ่งโลหะมีค่าชนิดนี้ทำสถิติเข้าใกล้ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ยิ่งมีหลายคำถามให้น่าค้นหาคำตอบ เป็นต้นว่า ทองคำจะไปต่อ หรือพอแค่นี้    บทบาทเฮดจ์ฟันด์ และกองทุน ETF หรือมีความเสี่ยงอะไรที่ต้องพึงระวังหรือไม่  วันนี้รายการเศรษฐกิจinsight  ได้วิเคราะห์หลายปัจจัยไว้ดังนี้ 



ทั้งนี้ ทองคำปิดตลาดส่งท้ายเดือนกรกฎาคม สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ส่งมอบเดือนธันวาคม ขึ้นไปแตะราคา 2,005 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะมาปิดตลาดโคเม็กซ์ (COMEX) ที่ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์  เช่นเดียวกับแนวโน้มของราคาสัญญาทองคำล่วงหน้า ซึ่งยังส่งสัญญาณขาขึ้นให้เห็น โดยทะยานผ่านระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ก่อนจะปรับราคาลงมาอยู่ที่ระดับ 1981.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ปัจจัยเบื้องหลังแรงทะยาน



เหตุผลหลักที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ราคาทองคำอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น มากจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ 
1) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายและการอัดฉีดเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องผ่านมาตรการต่างๆ ของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve: FED) และธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงแบงก์ชาติจีน (People's Bank of China: POBC) 
2) ความตึงเครียดและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ 
และ 3) การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งดำเนินมาตรการฉุกเฉินด้วยวงเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่ผ่านมา ทองคำมักจะถูกใช้เป็นตัวบริหารความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ที่มักจะเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว จากการมาตรการอัดฉีดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องจำนวนมากๆ ซึ่งไม่ใช่น่าแปลกที่ราคาทองคำที่ปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้น สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยลง

หากย้อนประวัติศาสตร์ของตลาดทองคำ พบว่าการพุ่งทะยานของราคาทองคำมักจะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจ และหากสถานการณ์นั้นเกิดขึ้น ทองคำจะเป็นเสมือนหลุมหลบภัย (Safe haven) ให้นักลงทุนใช้เป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ ในช่วงที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า และตลาดการเงินไร้เสถียรภาพ

 


ยิ่งกว่านั้น ธนาคารสหรัฐยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา ทองคำจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ 

ในสถานการณ์ขณะนี้ นักลงทุนจึงใช้จังหวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ เป็นปัจจัยที่ช่วยลดต้นทุนการเสียโอกาสในการถือทองคำ ที่ไม่มีอัตราผลตอบแทนให้ ทดแทนอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐ ที่น้อยลงมาก หรือ แทบไม่ได้เลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจติดลบ

แรงจูงใจของทองคำในช่วงเวลานี้ ทำให้กองทุน SPDR Gold Trust เพิ่มการถือครองทองคำ หรือ สินทรัพย์ที่มีทองคำเป็นหลักประกันอย่างต่อเนื่อง จนเพิ่มปริมาณทองคำในการถือครองเป็น 1,243 ตัน เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ตลาดการเงินในขณะนี้ ไม่ได้เลวร้ายซะทีเดียว  โดยทั่วไป ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่เป็นบวกอยู่ หลักๆ แล้วได้อานิสงส์จากมาตรการเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ ยกตัวอย่าง ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ดิ่งลง 34% ในช่วงแรกๆ ที่วิกฤตโควิดแพร่ระบาด แต่ในขณะนี้ ก็ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในแดนบวกได้แล้ว แม้จะไม่มากนัก
เข้าสู่ช่วงฟองสบู่ทองคำแล้วหรือยัง

ทองคำทำสถิติ new highs หลายครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เริ่มจุดประเด็นคำถามขึ้นบ้างแล้วว่า ทองคำกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แล้วหรือยัง ดูเหมือนคำตอบในขณะนี้ ยังแตกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ยังมั่นใจในแรงขับของปัจจัยสนับสนุนตลาดทองคำที่ยังมีอยู่ 


ดังความเห็นของฮุสเซน ซาเยด หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุน ที่ FXTM ที่ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ราคาทองหากปรับลดเงินเฟ้อแล้ว ก็ถือว่า ยังห่างไกลสถิติที่ควรจะเป็นอยู่ เงินเฟ้อจะเป็นตัวกำหนดว่า การพุ่งขึ้นของราคาทองจะไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งสำหรับบริษัทของเขายังมองเห็นศักยภาพที่จะดันราคาทองขึ้นไปที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

พวกเขายังคาดการณ์ว่า ทองคำยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งในระยะกลางและระยะยาว และแทนที่จะกังวลกับราคาทองคำ นักวิเคราะห์บางรายกับแสดงความกังวลกับ “ฟองสบู่” สินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ มากกว่า โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร ที่เป็นช่องทางในการอัดฉีดสภาพทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก และการปรับลดดอกเบี้ยเข้าใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ของธนาคารกลางสหรัฐ 

แต่ในฟากของคนที่กำลัง "กังวล" กับแรงทะยานของทองคำ กลับชี้ไปที่ความไม่สอดคล้องของกลไกตลาดทองคำ ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

โดยในแง่ของความต้องการทองคำ ผลสำรวจของ Refintiv ระบุว่า ในไตรมาสที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน ความต้องการทองคำจริงๆ (physical golds)  ลดลงเหลือ 677 ตัน ถือเป็นระดับต่ำที่สุด นับจากเดือนมีนาคม ปี 2552  เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคลดลง

ในด้านการผลิต Refintiv พบว่า การผลิตของเหมืองต่างๆ ลดลง 12% ในไตรมาส 2 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เหมืองทองหยุดทำการ ซึ่งภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มข้น ได้แก่ ละติน อเมริกา และแอฟริกา โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ได้แก่ แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย เปรู และอาร์เจนติน่า

สอดคล้องกับ สภาทองคำโลก ซึ่งอธิบายในรายงานครึ่งปีว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นปัจจัยที่มีผลต่อตลาดทองคำในไตรมาส 2 ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคลดลง  โดยการลงทุนในทองคำแท่ง และเหรียญทองลดลงอย่างฮวบฮาบในไตรมาส 2 ส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคในครึ่งปีแรก ลดลง17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเหลือ 396.7 ตัน  



การลดลงในครึ่งปีแรก ยังพบในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ โดยความต้องการของผู้บริโภคลดลงเหลือ 572 ตัน เนื่องจากตลาดหลายแห่งปิดตัวเพื่อสกัดกั้นโควิด และระดับราคาที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคพลอยลดลงไปด้วย 


แม้แต่ความต้องการใช้ทองคำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงเหลือ 140 ตันในครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการผู้ซื้อสินค้าอิเลคทรอนิกส์กลุ่ม end user ลดลงอย่างมาก



ในขณะที่กลุ่มธนาคารกลาง ซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ก็ชะลอการซื้อทองคำลง โดยในครึ่งปีแรก เข้ามาซื้อทองคำทั้งสิ้น 233 ตัน ลดลงจากสถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ในครึ่งปีแรก ของปี 2562 มากถึง 39%


อย่างไรก็ตาม รายงานครึ่งปี ของสภาทองคำโลก (World Gold Council) และรายงานผลสำรวจรายได้ไตรมาส ประจำเดือนมิถุนายน ของ Refintiv โดยเฉพาะในประเด็นการเข้ามาลงทุนในทองคำอย่างมากของกองทุน ETF โดยเตือนว่า หากไม่นับการลงทุนของกองทุน ETF ความต้องการทองคำในตลาดจะ”ลดทอนลง”ไปจากผลของระดับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจนทำสถิติหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา 

รายงานทั้งสองชี้ว่า หากตลาดทองคำเกิดสะดุด หรือ เกิดการเทขายหลักทรัพย์ในช่วงที่การติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโรคโควิด19 ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหรัฐ นั่นอาจทำให้ราคาทองคำ (รวมถึงโลหะเงิน) ตกลงมาอย่างรวดเร็ว  สถานการณ์นี้จะบีบให้กองทุน ETF เทขายสัญญาล่วงหน้าทองคำที่ถืออยู่ออกมา ซึ่ง จะก่อให้เกิดคลื่นเทขายในตลาด COMEX และตลาดอื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ทั้งนี้ แซมมี ชาร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ลอมบาร์ด โอดิเยอร์ ( Lombard Odier)  กล่าวว่า ทีมวิเคราะห์ของเขาได้ขายตราสารทองคำที่ถือครอง ออกมาครึ่งหนึ่ง  โดยเตือนว่า แม้การถือครองทองคำจำนวนหนึ่งเอาไว้จะมีความสำคัญในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยตราสารที่ให้ผลตอบแทนติดลบ แต่การติดลบลงอย่างมากของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นที่แท้จริง ได้สร้างความเสี่ยงให้กับทองคำที่ระดับราคาปัจจุบัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำที่เกิดขึ้นจะไม่ยั่งยืน หากพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจ

โดยปกติ อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบมากเช่นในขณะนี้ มักจะบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และเศรษฐกิจกำลังหดตัวต่อไป แต่ในมุมมองของซาร์ เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะฟื้นตัว และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่แท้จริง จะต้องปรับตัวขึ้นตาม ซึ่งอาจกระทบต่อทองคำ หากพิจารณาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายเดือนหรือ หลายไตรมาสข้างหน้า 

นี่คือ สถานการณ์อันตรายที่นัก "ตื่นทอง" ต้องคำนึง แต่จะเป็นสัญญาณ "ฟองสบู่" หรือไม่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง