ผลวิจัยชี้ แสงแดด-ความชื้น มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ โควิด-19
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายวิลเลียม ไบรอัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐมนตรีกระทรวงเพื่อความมั่นคงในมาตุภูมิ (ดีเอชเอส) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว ระบุว่า ผลการทดลองที่ดำเนินการโดย ศูนย์เพื่อมาตรการตอบโต้และวิเคราะห์การป้องกันทางชีวภาพแห่งชาติ (เอ็นบีเอซีซี) ในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า แสงแดดมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ได้
การทดลองเบื้องต้นซึ่งยังไม่มีการตรวจสอบระเบียบวิธีและอื่นๆ ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ค่าครึ่งชีวิต (ฮาล์ฟไลฟ์) ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ไวรัสลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง นั้น จะอยู่ที่ 18 ชั่วโมง เมื่ออุณหภูมิอยู่ที่ระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียสและค่าความชื้นอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไวรัสอยู่บนพื้นผิวซึ่งไม่มีรูปรุพรุน อาทิ ผิวโลหะอย่างเช่นลูกบิดประตู
ฮาล์ฟไลฟ์ ดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 6 ชั่วโมงหากเพิ่มความชื้นขึ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และจะลดลงไปอีกเหลือเพียง 2 นาที หากเพิ่มแสงแดดเข้ามาในองค์ประกอบด้วย นอกจากนั้นถ้าหากไวรัสอยู่ละอองแขวนลอยในอากาศ ซึ่งครึ่งชีวิตจะอยู่ที่ 1 ชั่วโมงครึ่งในอุณหภูมิ 21-24 องศาพร้อมค่าความชื้นเท่าเดิม แต่หากมีแสงแดดจะทำให้ช่วงครึ่งชีวิตของไวรัสลดลงเหลือเพียง 1นาทีครึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้นายไบรอันสรุปว่า ข้อเท็จจริงตามการศึกษานี้แสดงว่าเราสามารถสร้างสภาวะแวดล้อมที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้
อย่างไรก็ตา มนักวิชาการหลายคนรวมทั้ง ศาสตราจารย์เบนจามิน นิวแมน ประธานภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัย เท็กซัส เอแอนด์เอ็ม -เทกซาร์คานา ระบุว่า การทดลองดังกล่าวยังน่าเคลือบแคลง โดยเฉพาะในแง่ของระเบียบวิธีการทดลอง ตัวอย่างเช่น การทดลองดังกล่าวใช้วิธีใดในการจำลองแสงแดดในธรรมชาติ ถ้าเป็นแสงยูวี เป็นการจำลองในสภาพเข้มข้นแค่ไหน ที่ย่านความถี่ไหน จึงจะบอกได้ว่าจำลองแสงแดดในหน้าร้อนของสหรัฐอเมริกาได้ถูกต้องหรือไม่นั่นเอง