พ่อยิ้มเพื่อลูกบนสวรรค์ สิบปีหลังมหันตภัยสึนามิญี่ปุ่น ยังแอบร้องไห้
พ่อยิ้มเพื่อลูกบนสวรรค์ - เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานรำลึกเหตุการณ์มหาวิปโยคของญี่ปุ่น ครบ 10 ปี เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่หลายคนยังคงชอกช้ำใจแต่ก็พยายามต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป ทั้งร่วมกันฟื้นฟูเมือง รวมถึงช่วยเหลือทั้งคนและสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ ถูกทอดทิ้งจาก "มหันตภัยซ้อนสาม" ในครั้งนั้น
สามหายภัยในคราวเดียว หรือ triple disasters เริ่มบริเวณแนวชายฝั่งทางตอนเหนือของญี่ปุ่น วันนั้นตรงกับวันศุกร์ ชาวญี่ปุ่นกำลังเฝ้ารอคอยวันหยุดสุดสัปดห์ พนักงานมองนาฬิกาพลางนับเวลาถอยหลังเวลาเลิกงาน ขณะที่เข็มนาฬิกาเดินมาถึง 14.46 น. ขณะโรงเรียนใกล้จะเลิก ผืนดินเริ่มสั่นไหว
แผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 9.0 และ 9.1 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 มีพลังทำลายล้างมหาศาลจนแกนของโลกเคลื่อนตัวและยกเกาะหลักทางตะวันออกของญี่ปุ่นสูงขึ้น 4 เมตร
สึนามิหรือคลื่นยักษ์ถาโถมกลืนทุกสิ่งทุกอย่างลึกเข้าไปในแผ่นดิน 10 กิโลเมตร คร่าชีวิตประชาชนกว่า 18,000 ราย กำแพงน้ำความสูง 40 เมตรทำลายเมืองทั้งเมือง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตาในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดการรั่วไหล
ผ่านมา 10 ปี ชุมชนต่างๆ ริมชายฝั่งตลอดระยะทาง 300 กิโลเมตรยังคงถูกทิ้งร้างเพราะภัยพิบัติครั้งนั้น
พ่อยิ้มเพื่อลูกบนสวรรค์
หมู่บ้านคามายะ ใกล้กับแม่น้ำคิตาคามิ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมโอกาวะ ในวันที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เด็กนักเรียน 74 คนและครู 10 คนเสียชีวิต ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองและชาวบ้านมุ่งหน้าไปโรงเรียนที่เปิดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว
ซากปรักหักพังของโรงเรียนกลายเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเหยื่อสึนามิ ผู้ที่ต้องจากไปคนหนึ่ง คือ ด.ญ.โคฮารุ อายุ 12 ปี บุตรสาวของคุณครู ชินิชิโร ฮิราซึกะ
ชินิชิโรย้อนความหลังอันขมขื่นว่าตอนนั้น กำลังสอนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งใกล้เมืองอิชิโนมากิ หลังเกิดเหตุโรงเรียนเปลี่ยนมาเป็นศูนย์อพยพโดยมีผู้ประสบภัยประมาณ 2,500 คนอยู่รวมกัน ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีโทรศัพท์และถนนถูกตัดขาด
ชินิชิโรกลับไปที่หมู่บ้านคามายะหลังจากเกิดเหตุร้าย 4 วันและเห็นศพเด็กๆ วางเรียงราย หลังจากกู้ศพมาได้จากกองโคลนและซากปรักหักพัง
ด้านนาโอมิ ภรรยาของฮิราซึกะเป็นครูเช่นกัน ยอมลาออกจากโรงเรียนและขอใบอนุญาตใช้เครื่องจักรกลหนักเพื่อค้นหาศพลูกสาวซึ่งพบร่างไร้ลมหายใจในอีก 5 เดือนถัดมาในอ่าว ห่างจากโรงเรียน 4 กิโลเมตร
ชินิชิโรยังคงสอนหนังสือต่อไปและต้องรวบรวมความกล้าหาญยิ้มให้ลูกๆ อีก 2 คน
ชินิชิโรกล่าวว่า “ในฐานะครู ผมยิ้มให้กับนักเรียนแล้วแอบไปร้องไห้ในรถระหว่างทางกลับบ้าน และเมื่อกลับถึงบ้านก็ยิ้มให้ภรรยาและลูกๆ อีกครั้ง”
ชินิชิโรเขียนหนังสือภาพขึ้นมาเล่มหนึ่งสำหรับเด็กเล็ก ชื่อว่า “ Kimi wa 3.11 o Shiteimasuka?” หรือ “หนูรู้จัก 11 มี.ค.ไหม” ซึ่งวางแผงเมื่อเดือน ก.พ. ปีนี้ หนังสือเล่มนี้ต้องการสื่อให้ผู้อ่านคำนึงถึงคุณค่าของชีวิตและข้ามอุปสรรคขวากหนามต่างๆ ไปได้
ชินิชิโรกล่าวว่าอยากให้ดวงวิญญาณของลูกสาวอยู่ในสรวงสวรรค์และมองเห็นว่าตนดำเนินชีวิตอย่างไร
ขณะที่หมู่บ้านอิตาเตะ ห่างออกไปทางใต้กว่า 100 กิโลเมตรและอยู่ในแผ่นดินจะไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ แต่ต้องรับผลพวงจากแผ่นดินไหวและสึนามิเพราะกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิที่รั่วไหลหลังจากน้ำท่วมระบบหล่อเย็น
หมู่บ้านที่เปลี่ยนไป
ทัตสึโอะ ฮาราดะ อายุ 80 ปี อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้มาตลอดชีวิต จนกระทั่งถูกคำสั่งให้อพยพพร้อมๆ กับชาวบ้านอีก 5,300 คน
หลังจาก 9 ปีผ่านไป ทัตสึโอะหวนกลับมาที่หมู่บ้านอิตาเตะอีกครั้งเมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว พบชาวบ้านเก่าๆ ที่นี่เพียง 1,500 คน หลายคนเป็นผู้สูงอายุทำให้คิดว่าจิตใจของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนไปแล้วจนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนรุ่นถัดไป
ขณะที่คนในหมู่บ้านเหลือน้อย สัตว์ป่ากลับเพิ่มจำนวนขึ้น ก่อนหน้าเหตุวันวิปโยค ไม่เคยมีหมูป่าหรือลิง แต่ตอนนี้ มีฝูงลิงประมาณ 40-50 ตัวเพ่นพ่านไปทั่วและไม่กลัวคนหรือรถยนต์ ทำเหมือนกับคนไปรุกรานถิ่นของพวกมัน
ชวนหนุ่มสาวฟื้นฟูบ้านเกิด
ด้าน นานะ มัตสึโมโตะ อายุ 28 ปี กลับบ้านเกิดที่หมู่บ้านอิตาเตะในเมืองฟูกูชิมะเมื่อ 3 ปีก่อน หลังจากเรียนจบที่กรุงโตเกียวและพยายามชักชวนหนุ่มสาวให้กลับหมู่บ้านเช่นกัน
โดยยุติโครงการกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูหมู่บ้าน หันมาเปิดบริษัทเองเพื่อทำงานสานต่อความฝันที่ต้องการให้อาคารที่ถูกทิ้งร้างตั้งแต่เกิดภัยพิบัติกลับมาใช้ประโยชน์เป็นบ้านพักที่อาศัยร่วมกันและเป็นพื้นที่สำหรับศิลปินและสตาร์ทอัพ
หมู่บ้านอิตาเตะได้รับผลประโยชน์จากโครงการฟื้นฟูต่างๆ ของรัฐบาลโดยองค์กรท้องถิ่นได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาของนักเรียน ตั้งแต่ค่าเล่าเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าทัศนศึกษาและชุดนักเรียน
แต่คนส่วนใหญ่ยังกลัวรังสีและไม่กล้ากลับหมู่บ้านทำให้ไม่ค่อยมีคนใหม่กลับไปมากนัก แต่มัตสึโมโตะไม่กังวลเพราะคิดว่าปลอดภัยที่จะอาศัยที่นี่ หลังจากค้นคว้าวิจัยและหารือกับนักวิทยาศาสตร์หลายคน แต่ทุกคนก็มีสิทธิตัดสินใจเอง
หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรม ประชาชนประมาณ 165,000 คนละทิ้งบ้านเรือนตามคำสั่งอพยพหรือสมัครใจไปอยู่ที่อื่น
ปัจจุบัน หลายพื้นที่ได้รับการประกาศว่าปลอดภัยแล้วและมีโครงการจูงใจให้กลับมา แต่หลายคนยังไม่เต็มใจและคนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอพยพเหลือเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
ด้านทางการระบุว่าผู้อพยพมีประมาณ 35,700 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะมากกว่านั้น 2 เท่า และยังไม่กำหนดยกเลิกคำสั่งอพยพซึ่งคาดว่าอาจจะยกเลิกคำสั่งได้เร็วที่สุดภายในปี 2584 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า
มหันตภัยถล่มภูมิภาคโทโฮคุเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาก่อนและต้องอาศัยความพยายามอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนเกิดเหตุร้าย
จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลทุ่มงบประมาณฟื้นฟูไปแล้วกว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,400,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คัตสุไอ ฮิราซาวะ รัฐมนตรีกระทรวงฟื้นฟู มองว่า เงินลงทุนเทลงไปที่การก่อสร้างอาคารใหม่ๆ แต่กลับจ่ายเงินน้อยนิดในการฟื้นคืนชีวิต เช่น การให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ที่บอบช้ำทางจิตใจ
////