โรงงานจ๊าก ค่าไฟพุ่งดันต้นทุนพรวด-สุพัฒนพงษ์ ชงครม. 22 มี.ค.เคาะแพกเกจสู้น้ำมันแพง
วันที่ 19 มีนาคม โรงงานอุตสาหกรรมต้องร้องจ๊ากกันเป็นแถว เมื่อค่าไฟจะปรับขึ้นอีก ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก หลังต้องแบกรับภาระจากน้ำมันที่แพงขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟรวม 4 บาทต่อหน่วย ว่า อัตราค่าไฟดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมทั้งธุรกิจในกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะไฟฟ้าคือองค์ประกอบสำคัญในการผลิต การดำเนินการกิจการ โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ เหล็ก ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมขั้นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นได้รับผลกระทบเช่นกัน
นายสุพันธุ์กล่าวว่า ผลสำรวจของผู้ประกอบการทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีความเห็นว่าต้องการตรึงราคาพลังงาน ตรึงค่าไฟ แต่ในเมื่อเวลานี้ต้นทุนพลังงานสูง รัฐบาลเลี่ยงไม่ได้ ต้องปรับขึ้นราคาก็ควรมีมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟ อาทิ มาตรการทางภาษี
“ผลจากค่าไฟเพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนผลิต จะมีส่วนทำให้ราคาสินค้าคงทยอยปรับขึ้นเช่นกัน เพราะเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกด้าน” นายสุพันธุ์กล่าว
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในภาวะราคาน้ำมันแพง ว่า ที่ผ่านมานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับกระทรวงการคลังหลายครั้ง คาดว่าจะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนหลายมาตรการในการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มีนาคม ส่วนจะเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มหรือเป็นการทั่วไป ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ ทั้งในส่วนเงินกู้ จากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทที่ยังเหลืออยู่ และจากงบประมาณกลาง มาตรการที่ออกมาจะดูเป็นกลุ่มๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังวางกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น
นายกฤษฎากล่าวว่า ในส่วนการช่วยเหลือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้น แม้ขณะนี้จะมีร้านค้าที่มีความหลากหลายเข้าร่วมในโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลังมีข้อมูลกลุ่มหรือประเภทร้านค้าสามารถมาใช้คัดกรองร้านค้าที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือด้วย
นายกฤษฎายังกล่าวถึงข้อเสนอมให้ขยายต่อโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินว่า ควรจะขยายหรือต่ออายุเป็นโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 หรือไม่ โดยรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระยะต่อไปก่อน ขณะนี้มาตรการคนละครึ่งยังคงดำเนินการในเฟสที่ 4 อยู่
“ขณะนี้ เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ไม่ปกติ ฉะนั้นภาครัฐต้องเป็นพระเอกในการเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนยังมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการคนละครึ่งต่อไปอีกหรือไม่ ต้องดูในระยะต่อไป” นายกฤษฎากล่าว