ถ่ายทอดสดประชุมสภา โหวตเลือก "ประธานสภาฯ" เริ่ม 09.30 น. ชมพร้อมกันที่นี่!
ถ่ายทอดสดประชุมสภา โหวตเลือก "ประธานสภาฯ และ รองประธานสภาฯ" เริ่ม 09.30 น. คลิกที่นี่ คาดใช้เวลา 6 ชั่วโมง
4 กรกฎาคม 2566 จะเริ่มการประชุมสภาฯนัดแรก ขึ้นเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในเวลา 9.30 น. ที่มาจากการเลือกของสมาชิก ดังนั้น ในการประชุมวันดังกล่าว
ที่ประชุมจะให้ส.ส. ที่มีอาวุโสสูงสุด ของสมาชิกทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ครั้งแรกนี้ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย ได้ทำหน้าที่ประธานสภาฯชั่วคราว เนื่องจากมีอาวุโสสุงสุด เพื่อดำเนินการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ หลังจากนั้นเปิดให้ ส.ส.เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม โดยต้องมี ส.ส.ให้การรับรองไม่ต่ำกว่า 20 คน พร้อมเปิดให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์
การลงมติจะแบ่งเป็น 2 กรณี ซึ่งหากมีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ไม่จำเป็นต้องมีการลงคะแนน และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ แต่กรณีเสนอชื่อมากกว่า 1 รายชื่อ ที่ประชุมสภาฯ ต้องลงมติลับ
ขั้นตอนการลงคะแนนลับ
จะเริ่มจากขั้นตอนการตั้งกรรมการตรวจนับคะแนน จากนั้นจะให้ส.ส. ลงคะแนนลับ เข้าคูหาครั้งละ 20 คน โดยแต่ละคนจะเขียนชื่อบุคคลที่เลือกลงในกระดาษ นำใส่ซองสีน้ำตาล เมื่อเรียบร้อยแล้วจะนำซองหย่อนลงในกล่องใส ส่วนการตรวจนับคะแนน จะขึ้นผลที่หน้าจอทันที และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกให้เป็นประธานสภาฯ โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อซึ่งได้คะแนนสูงสุดจะได้รับตำแหน่งตามที่ถูกเสนอชื่อ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้แล้ว จะนำบัตรที่ลงคะแนนไปทำลาย
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ขั้นตอนการลงมติลับจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมง และการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งจะต้องเลือกประธานสภาฯ ให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะเข้าสู่การเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับ โดยขณะนี้มี ส.ส.เข้ารายงานตัว 499 คน เนื่องจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะไม่เข้ารายงานตัว และได้สละตำแหน่งส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่งผลให้นายอนุชา บูรพชัยศรี ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับถัดไปต้องขยับขึ้นมาเป็นส.ส.แทน
ช่องทางรับชมถ่ายทอดสดเลือกประธานสภา
-วิทยุรัฐสภา FM 87.5 MHz พร้อมกัน 14 เครือข่ายทุกภูมิภาค และ AM 1071 KHz
-Application และ YouTube : TPchannel
-เว็บไซต์ tpchannel.org
-Facebook สถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา คลิกที่นี่
-Youtube สถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา คลิกที่นี่
ภาพจาก รัฐบาล