ใช้“ยุงสู้ยุง”ตัดวงจรไข้เลือดออก นักวิจัยอินโดนีเซียพบวิธีคุมไวรัสในยุง
TNN Health
2 พฤศจิกายน 2564 ( 14:50 )
139
ไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่นักวิจัยทั่วโลกพยายามหาวิธีการควบคุมให้ได้ เนื่องจากพบการแพร่ระบาดทุกปี ล่าสุด นักวิจัยจากอินโดนีเซีย ค้นพบวิธีจัดการกับยุงลายที่เป็นพาหะของไข้เลือดออก โดยการเพาะพันธุ์ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย (Wolbachia) ที่สามารถป้องกันไวรัสไม่ให้เติบโตในตัวยุงได้ ซึ่งโครงการนี้ริเริ่มโดยโครงการยุงโลก(World Mosquito Program) หรือ WMP โดยเป็นโครงการที่ไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปกป้องคนทั่วโลกจากเจ้ายุงร้าย
.
ความพยายามครั้งนี้ นักวิจัยพยายามเพาะเชื้อเพื่อจัดการไวรัสเดงกี่ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้มนุษย์เราป่วยเป็นไข้เลือดออก เมื่อยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียไปกัดคน คนที่ถูกกัดจะมีภูมิที่ป้องกันไวรัสเดงกี่ได้ การร่วมแรงร่วมใจครั้งนี้นักวิจันได้นำเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียที่เพาะไว้กับยุงในแล็ปแล้วพบว่าได้ผลดี จึงต่อยอดด้วยการวิจัยภาคสนามเอาไปปล่อย โดยทำมา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2017 ผลการทดลองพบผู้ติดเชื้อลดลงร้อยละ 77 ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ลดลงร้อยละ 86
.
สำหรับหลักการวิจัย เมื่อนำยุงที่มีแบคคทีเรียโวลบาเกีย ไปปล่อยให้ผสมพันธ์ุกันตามธรรมชาติ พบว่ายุงในรุ่นต่อไปก็จะไม่มีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ในตัวแล้ว เมื่อไปกัดคนก็จะไม่ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีกต่อไป
.
ปัจจุบัน ไข้เลือดออก เป็นโรคประจำท้องถิ่น มากกว่า 100 ประเทศในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนผู้ป่วยที่รายงานต่อ องค์การอนามัยโลก เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 เท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เฉพาะปี 2562 มีผู้ป่วยเกิน 5.2 ล้านคน และเมื่อเดือนกันยายน รัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย เผชิญกับการระบาดของไข้เลือดออกรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีมาแล้วเช่นกัน
.
ที่มา: รายการ TNN News ข่าวเช้า