ศรีลังกา บล็อกโซเชี่ยลมีเดีย หลังประกาศเคอร์ฟิว คุมการประท้วง
วันที่ 3 เม.ย. บีบีซี รายงานว่า รัฐบาล ศรีลังกา มีคำสั่งปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และวอตซ์แอป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะได้รับข้อความที่ระบุว่า "นี้เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับโทรคมนาคมศรีลังกา"
คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังประธานาธิบดี ศรีลังกา นายโกตภยา ราชปักษา ประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันเสาร์ที่ 2 เม.ย. และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ประชาชนอยู่ในที่พัก ห้ามออกมาอยู่บนถนนสาธารณะ ในสวนสาธารณะ บนรถไฟ หรือบนชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางการ เพื่อป้องกันประชาชนประท้วงระลอกใหม่ที่ออกมาต่อต้านการขาดแคลนและเชื้อเพลิง
ขณะที่ตำรวจและทหารออกมาประจำการตามถนนในกรุงโคลัมโบ และมีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหมายค้น อย่างไรก็ตาม ทางการระบุว่า วันแรกของเคอร์ฟิวในช่วง 22.00 น. ของวันเสาร์ที่ 2 เมย. ถึง 06.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย. จับกุมผู้ฝ่าฝืนในจังหวัดตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงโคลัมโบ เมืองหลวง
ทั้งนี้ ประชาชนออกมาประท้วงด้านนอกที่พักนายราชปักษาในกรุงโคลัมโบเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 31 มี.ค. การประท้วงเริ่มต้นอย่างสงบ แต่บานปลายเป็นความรุนแรงหลังตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ฉีดปืดแรงดันน้ำ และทุบตีผู้ชุมนุม ซึ่งตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ และมีรายงานว่าผู้ชุมนุมจุดไฟเผายานพาหนะด้านนอกที่พักประธานาธิบดีด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยกว่า 20 นายระหว่างการปะทะกับผู้ชุมนุม
สำหรับการประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่ 1 เม.ย. ผู้ชุมนุมถูกจับกุม 53 คน และช่างภาพข่าว 5 คน ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานในสถานตำรวจ รัฐบาลระบุว่าจะเปิดการสืบสวนการซ้อนทรมานช่างภาพข่าวต่อไป แต่แม้จะปราบปรามผู้ชุมนุม การประท้วงดำเนินต่อไปและขยายตัวเป็นไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย
ผู้ประท้วงในเมืองหลวงถือป้ายเรียกร้องให้ประธานาธิบดีศรีลังกาลาออก ถือเป็นการพลิกผันครั้งใหญ่ของความนิยมต่อนายราชปักษา ซึ่งเข้ามามีอำนาจโดยได้รับเสียงข้างมากในปี 2562 โดยให้คำมั่นจะสร้างเสถียรภาพและเป็น "มือที่เข้มแข็ง" ในการปกครองประเทศ
ทั้งนี้ ศรีลังกาอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดสกุลเงินต่างประเทศที่ใช้ในการชำระค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ทางการต้องตัดไฟวันละ 13 ชั่วโมง อีกทั้ง การขาดแคลนเชื้อเพลิง อาหาร และยาที่จำเป็น ทำให้ประชาชนโกรธแค้นขั้นสุดและออกมาประท้วงในที่สุด