วันนี้วันอะไร วันวัณโรคโลก ตรงกับวันที่ 24 มีนาคม
รู้หรือไม่ วัณโรคอันตรายกว่าที่คิด ทุกวันที่ 24 มีนาคมเป็นวันวัณโรคโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของโรควัณโรคที่ยังคงระบาดอยู่ในหลายส่วนของโลก ซึ่งวัณโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตราว 1.6 ล้านคนต่อปีโดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม
โดยการที่ตั้งวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคเนื่องจากได้มีการประกาศสาเหตุของโรควัณโรคขึ้นในวันนี้ โดยสาเหตุการเกิดวัณโรคเกิดจากเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส โดยผู้ค้นพบคือดร.โรเบิร์ต คอค ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นการบุกเบิกวิธีการรักษาและวินิจฉัยวัณโรค
วัณโรค คืออะไร
วัณโรคเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีตผู้ที่เป็นโรควัณโรคถือเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือดซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยโรควัณโรคถูกค้นพบโดย ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr.Robert Koch) ซึ่งสาเหตุของเชื้อวัณโรคคือเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้ประชากรในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งในขณะนั้น
เป็นวัณโรคอันตรายไหม ซึ่งโรควัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) ซึ่งสามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ซึ่งในประเทศไทยถือว่ายังมีความรุนแรงของโรคอยู่มาก เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มาก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกันทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
อาการของคนป่วยเป็นวัณโรค
• มีอาการอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง
• เบื่ออาหารน้ำหนักลดลง
• หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก
• ในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนจะมีอาการไอหนักมากทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหาร
• อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมากจะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดง หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน
• ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า
• ผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อย ๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย แต่จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทน
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการไอเรื้อรังมีเลือดปน เบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ทันเวลา ซึ่งหากวินิจฉัยว่าเป็นโรควัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากทานยาตามแพทย์สั่งและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีป้องกันตัวเองจากวัณโรค
สำหรับประชาชนทั่วไป
▪ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
▪ ตรวจสุขภาพร่างกายและถ่ายภาพรังสีทรวงอกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
▪ ถ้าหากมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง ไข้ หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์และรับการตรวจรักษาทันที
▪ ประชาชนที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอดควรเข้ารับการตรวจสุขภาพและถ่ายภาพรังสีทรวงอก ณ โรงพยาบาล
▪ จัดบ้านและสถานที่ทำงานให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องถึง
สำหรับผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา
▪ รับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
▪ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิดโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ไข่ ผักและผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ
▪ ควรป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่คนที่อยู่รอบข้าง ตามคำแนะนำของแพทย์
▪ ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนและหลังสัมผัสสิ่งต่างๆ
▪ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และกรณีไอหรือจาม ให้ปิดปากและจมูกด้วยหน้ากากอนามัยหรือกระดาษเช็ดหน้า
▪ ทำความสะอาดห้องพัก ผ้า และเครื่องนุ่งห่มทุกวัน และจัดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยวัณโรคถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 คาดประมาณทางระบาดวิทยาว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำประมาณ 105,000 ราย หรือคิดเป็น 150 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (TB/HIV) จำนวน 10,000 ราย ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตสูงถึง 11,000 ราย มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือดื้อยา rifampicin (MDR/RR-TB) 2,500 ราย ซึ่งคาดว่าจะพบผู้ป่วยวัณโรค MDR/RR-TB คิดเป็นร้อยละ 1.7 ในผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ และร้อยละ 10 ในผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาวัณโรคมาก่อน
ทั้งนี้ ประชากรกลุ่มเสี่ยงโรควัณโรค ได้แก่ กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอด, ผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่หรือมีโรคร่วม, ผู้ต้องขังใน เรือนจำ, บุคลากรสาธารณสุข, แรงงานข้ามชาติและแรงงานเคลื่อนย้าย, ผู้อาศัยในที่คับแคบแออัด ชุมชนแออัด, กลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่มผู้ป่วยโรคร่วมต่าง ๆ
ที่มาข้อมูล : กองควบคุมวัณโรค กองวัณโรค
ที่มาภาพ : AFP