รีเซต

ได้เฮ! คลังดึง 7 แบงก์รัฐ ต่อพักหนี้เอสเอ็มอี ลากยาวถึงกลางปี 64

ได้เฮ! คลังดึง 7 แบงก์รัฐ ต่อพักหนี้เอสเอ็มอี ลากยาวถึงกลางปี 64
มติชน
22 ตุลาคม 2563 ( 17:12 )
6K
ได้เฮ! คลังดึง 7 แบงก์รัฐ ต่อพักหนี้เอสเอ็มอี ลากยาวถึงกลางปี 64

คลังดึง 7 แบงก์รัฐ ต่อพักหนี้เอสเอ็มอี ลากยาวถึงกลางปี 64 เล็งเติมเงิน บสย. ค้ำประกันในระบบเพิ่มอีก 3 เท่าตัว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 ตุลาคม ที่กระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แถลงข่าว เพื่อเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และแนวทางการช่วยเหลือในระยะต่อไปของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง หลังสิ้นสุดการพักชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563

 

นายอาคม กล่าวว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการการพักชำระหนี้ มีจำนวน 12.1 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 6.9 ล้านล้านบาท สัดส่วน 30% ที่อยู่ในความดูแลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือประมาณ 6.57 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 2.89 ล้านล้านบาท สำหรับแนวทางดูแลมี 2 ส่วน คือ ตามแนวทาง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับการพักชำระหนี้ตามมาตรการอื่นๆของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดกลุ่มตามสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนี้ 1.กลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิดและยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เบื้องต้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้ชะลอการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีก 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 2.กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจได้แต่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใน เดือนธันวาคม 2563 และ 3.กลุ่มที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินธุรกิจได้ ทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะรับชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ในช่วงการพักชำระหนี้

 

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในความดูแลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กระทรวงการคลังให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐติดตามดูแลลุกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการการชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือตามสถานการณ์ลูกหนี้แต่ละราย ในเรื่องการฟื้นตัวของธุรกิจ และสถานะการเงินขององค์กร โดยมี 4 ขั้นตอน 1.การพักหรือชะลอการชำระหนี้ 2.ปรับโครงสร้างหนี้การให้ตรงจุด 3.ฟื้นฟูธุรกิจให้เข้มแข็ง และ4.สร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจเอสเอ็มอี

 

ขณะที่ มาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เอสเอ็มอี แบงค์, เอ็กซิม แบงค์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสากรรมขนาดย่อม ซึ่งแต่ละแห่งเบื้องต้นมี ดังนี้

 

1.ธนาคารออมสิน จะขยายระยะเวลาการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากเดิมเมษายน ถึงกันยายน 2563 เป็น ธันวาคม 2563 กรณีสินเชื่อบุคคลทั่วไปและสนเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินกู้ไม่เกิน 100ล้านบาท โดยมีลูกค้า 3 ล้านราย

2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ขยายเวลาการพักชำระหนี้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ติดต่อกับธนาคารเพื่อขอขยายเวลาการพักชำระหนี้ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรไม่ไดมีรายได้แบบรายเดือน

3.ธนาคารอาคารสงเคาระห์ ขยายเวลาพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นพฤศจิกายน 2563 จนถึง มกราคม 2564

4.เอสเอ็มอี แบงค์ ขยายเวลาการพักพักชำระหนี้อีก 6 เดือน หรือถึงมีนาคม 2564

5.เอ็กซิม แบงค์ ขยายเวลาการพักชำระหนี้และดอกเบี้ย ออกไปไม่เกิน 2 ปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงธุรกิจและประเภทผลิตภัณฑ์

6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผ่อนปรนการชำระหนี้เป็นกรณีแต่ละราย สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกหนี้การค้า ตั้งแต่ตุลาคม 2563 จนถึงมิถุนายน 2564

และ 7.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสากรรมขนาดย่อม พักชำระค่างวด เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งวันที่อนุมัติสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ยื่นคำขอกับทางธนาคารได้ถึง ธันวาคม 2563

 

นายอาคม กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามการมาตรการของธนาคารโลกที่เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาหรือ ประเทศที่ด้อยพัฒนา ที่จะพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจและการขยายมาตรการอีกครั้งทุกๆ 6 เดือน และขณะนี้จากที่มาตรการการช่วยเหลือที่จะสิ้นสุดลงเมื่อถึง ธันวาคม 2563 ทางกลุ่มประเทศ จี20 ได้เห็นชอบแล้วที่จะขยายไปเป็น สิ้นสุดเมื่อมิถุนายน 2564

 

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากมาตรการการพักชำระหนี้แล้ว การที่จะรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้ ก็ต้องมีมาตรการเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ทั้งรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน การจ้างงาน โดยเอสเอ็มอีจำนวนมาก พยายามรักษาการจ้างงานไว้ ซึ่งขณะนี้มีการคลายล็อกดาวน์แล้ว และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแล้ว แต่จำนวนการใช้จ่ายโดยเฉพาะในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวกับยังน้อยรวมทั้งอัตราการการเข้าพักยังต่ำ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อยในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่หนัก รัฐบาลจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และการปรับโครงสร้างธุรกิจในเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้

 

ทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสากรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้ามาเสริมสภาพคล่องทางการเงินโดย การให้หลักประกันหรือการค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวงเงินเพิ่มเพื่อให้ทาง บสย.ไปค้ำประกันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกันการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องของการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า

 

นอกจากมาตรการเป็นส่วนที่ดำเนินนโยบายตามธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ทางกระทรวงการคลังก็ได้ให้นโยบายกับสถาบันการเงินและธนาคารต่างๆ ว่า อยากจะให้ดูแลลูกหนี้กลุ่มดีที่ชำระหนี้ได้ และกลุ่มที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ไม่ให้ตกไปอยู่ในกลุ่มที่เปราะบาง อ่อนแอ และไม่ให้กลุ่มที่เปราะบางตกลงไปอยู่ในกลุ่มที่ติดต่อไม่ได้หรือหายไปจากระบบ และต้องช่วยเหลือให้กลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ อย่างกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่หายไปจากระบบ ดันให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ดีกว่าให้ได้ และสามารถฟื้นฟูจนดูแลตัวเองได้

 

“มั่นใจได้ว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ขอเน้นย้ำว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะดูแลเป็นอย่างดี” นายอาคม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง