"สูบบุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริงหรือ กรมการแพทย์แจงแบบนี้?
กรมการแพทย์ ชี้แจงแล้วกรณีที่มีข่าวว่า "สูบบุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริงหรือ เช็กเลยที่นี่
จากกรณีที่มีการแนะนำว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กับ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ทั้งในบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคตินเหมือนกัน ซึ่งนิโคตินเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้าได้ นอกจากสารนิโคตินแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดเช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แต่ผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน หรืออาจกลายเป็นสูบทั้ง 2 ชนิด
การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน แต่เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้มากขึ้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ซึ่งจากการทดลองในหนูที่หายใจเอาไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปอดพบว่าเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดเกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับปอดของหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะแรกที่พบในโรคถุงลมโป่งพอง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.pmnidat.go.th/thai/ หรือโทร. 0-2590-6000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : บุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินเหมือนกัน ซึ่งนิโคตินเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดและทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้าได้ นอกจากสารนิโคตินแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดเช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้
ที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
ภาพจาก AFP