รีเซต

Virtual Bank ธนาคารพันธุ์ใหม่

Virtual Bank ธนาคารพันธุ์ใหม่
มติชน
7 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:33 )
99

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็น เพื่อดำเนินนโยบายสร้างภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)

 

รูปแบบของ Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขา และตู้ ATM แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้และให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ ติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual Bank จัดเตรียมไว้

 

ทั้งนี้ Virtual Bank มีการรับเงินฝากและได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแบบอื่นๆ เช่น (1) Peer-to-Peer (P2P) lending ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ (2) Crowdfunding ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่ตัวกลางช่วยจับคู่ผู้ระดมทุนและนักลงทุน และ (3) Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง

 

นอกจากลักษณะและรูปแบบการให้บริการที่ระบุข้างต้น Virtual bank มีข้อแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core banking system) โดย Core banking system ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่นๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประโยชน์ของ Virtual Bank จะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น จากการสร้างข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ผ่านการโอน หรือชำระเงินผ่านบัญชีสถาบันการเงิน หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เพื่อชำระคืนสินเชื่อ หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านร้านค้า รวมทั้งร้านค้าออนไลน์และแพลตฟอร์มต่างๆ จะเป็น Alternative data ที่ช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินรวมทั้ง Virtual bank สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในอนาคต จากเดิมกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้

 

พร้อมทั้งสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีรูปแบบใหม่และแตกต่างจากที่มีอยู่ โดยอาจเป็นบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม หรือสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของ Virtual Bank ในต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลี ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 26 สัปดาห์ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือ กลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน โดยจูงใจผู้ฝากเงินด้วยการให้ดอกเบี้ยสูง และกำหนดเงินฝากขั้นต่ำเป็นจำนวนน้อย ด้านประเทศจีนและฮ่องกง ใช้ Big data ในการประเมินรายได้และวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกหนี้แทนการใช้หลักฐานแสดงรายได้ ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการดำเนินการสินเชื่อและการชำระคืนก่อนครบกำหนด และใช้เวลาในการวิเคราะห์ อนุมัติ และเบิกจ่าย

 

อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงาน เพราะ Virtual Bank นำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการทำธุรกรรมต่างๆ และให้บริการออนไลน์เต็มรูปแบบ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ Virtual bank ในต่างประเทศหลายแห่งสามารถลดต้นทุนในการหาลูกค้า รวมถึงต้นทุนในการได้มา ซึ่งข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ความต้องการ หรือความเสี่ยง เนื่องจากมีฐานลูกค้าและข้อมูลต่างๆ จากธุรกิจประเภทอื่นอยู่แล้ว ต้นทุนที่ลดลงทำให้ Virtual bank สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีราคาดีกว่า เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากสูง ดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำ หรือไม่เก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันของ Virtual bank ที่มีมากกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม

 

ซึ่ง Virtual bank เป็นส่วนหนึ่งในแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ consultation paper ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่างออกมาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็น เพื่อจะออกกฎระเบียบต่างๆ อย่างรอบด้าน ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเป็นหนึ่งในแผนที่เปิดให้มีการแข่งขัน (Open Competition) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น นำมาสู่การมีผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้ผู้เล่นรายเก่าปรับตัวได้ด้วย

 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์ของ Virtual bank จะออกมาหลังจากได้มีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ว่า ทาง ธปท.คิดแบบนี้ถูกหรือไม่ พร้อมกับผู้ประกอบการต่างๆ สนใจจะเข้ามาเปิด Virtual bank ด้วยหรือไม่ คาดว่าหลักเกณฑ์จะออกมาในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

 

มองว่า Virtual bank จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น น่าจะเห็นการใช้นวัตกรรมมากขึ้น ส่วนธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมไม่มีใครหยุดนิ่ง เขามีการปรับตัวตลอดเวลา โดยจะมีเกณฑ์ให้ธนาคารแบบเดิมสามารถขอใบอนุญาต Virtual bank ได้จากเดิมที่ไม่สามารถขอใบอนุญาตได้ โดยยึดที่เป้าหมายให้คนไทยได้ประโยชน์มากที่สุด

 

ความสำเร็จของ Virtual bank ที่เห็นได้ชัดคือ “Kakao Bank” ของประเทศเกาหลีใต้ โดยมีจำนวนลูกค้ากว่า 17 ล้านคน และมีผู้ใช้งานถึง 11 ล้านคนต่อเดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Kakao Bank ประสบความสำเร็จ คือ การมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจาก Kakao Talk แอพพลิเคชั่นคล้าย Line ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และการออกแบบการใช้งานที่น่าดึงดูดและใช้งานง่าย

 

สำหรับประเทศไทย Virtual Bank เพิ่งจะเริ่มต้น ยังอยู่ในขั้นการเปิดรับฟังความคิดเห็น ก็คงยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อไรจะเริ่มได้ทดลองใช้กัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง