บทความคิดเห็น : เหตุใด 'ผู้รักชาติบริหารฮ่องกง' จึงเป็นหลักการอันสมเหตุสมผล
ปักกิ่ง, 8 มี.ค. (ซินหัว) -- ร่างมติการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (HKSAR) ของจีน ซึ่งถูกเสนอต่อสภานิติบัญญัติระดับสูงสุดของจีนเมื่อไม่นานนี้ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก
แม้กลุ่มประเทศตะวันตกบางส่วนจะส่งเสียงเซ็งแซ่อ้างถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ประชาธิปไตย" และ "เสรีภาพ" ทว่าการดำเนินการของจีนในการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกงนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากบรรดาผู้ที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและการพัฒนาของฮ่องกงอย่างแท้จริง
การที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจรัฐสูงสุดในจีน ดำเนินการตัดสินใจตามรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกง ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย สมเหตุสมผล และมีความจำเป็น
การที่รัฐบาลกลางมีบทบาทนำในการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งถือเป็นหลักปฏิบัติสามัญทั่วโลก เฉกเช่นกรณีสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งเมื่อวันพุธ (3 มี.ค.) ซึ่งกำหนดให้แต่ละรัฐท้องถิ่นตั้งคณะกรรมการกำหนดเขตการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและอื่นๆ หรือกรณีสมัชชาแห่งชาติในฝรั่งเศสเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาท้องถิ่น
ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนและการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งเป็นกิจการภายในของจีน การชี้นิ้วกล่าวหาในประเด็นนี้จึงสวนทางกับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประชาคมโลกต่างยอมรับเป็นวงกว้างว่าประเทศควรอยู่ภายใต้การบริหารโดยผู้ที่รักและภักดีต่อประเทศ
สหรัฐฯ มีประเพณีเก่าแก่หลายสิบปีที่นักเรียนต้องปฏิญาณตนแสดงความจงรักภักดีต่อหน้าธงชาติ ส่วนผู้อพยพที่ต้องการเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ต้องกล่าวคำปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีเช่นกัน เห็นได้ว่าการกล่าวคำปฏิญาณตนของหน่วยงานรัฐต่างๆ มีความเกี่ยวข้องอย่างชัดแจ้งกับความจงรักภักดีที่มีต่อรัฐ
ไม่มีประเทศใดบนโลกนี้ แม้แต่สหรัฐฯ ที่จะยินยอมให้ผู้บัญญัติกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐทรยศต่อรัฐหรือกระทำการแบ่งแยกดินแดนของชาติ อย่างไรก็ตาม พอกล่าวถึงจีน บางประเทศตะวันตกกลับใช้มาตรฐานที่แตกต่างกัน
กลุ่มอิทธิพลตะวันตกบางส่วนได้แสวงหาประโยชน์จากฮ่องกงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองและแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยอาศัยความช่วยเหลือจากกลุ่มตัวแทนของพวกเขาในฮ่องกงมาเนิ่นนาน
(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเดินอยู่ที่สวนสาธารณะในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทางตอนใต้ของจีน วันที่ 7 มี.ค. 2021)
กลุ่มผู้ต่อต้านจีนและผู้บ่อนทำลายความมั่นคงในฮ่องกง ได้ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลตะวันตกบางส่วนที่อยู่ภายนอก ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่มีมายาวนานในระบบการเลือกตั้งปัจจุบัน เพื่อพยายามขัดขวางการบริหารของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
การปรับปรุงระบบการเลือกตั้งของฮ่องกงและการสร้างรับประกันว่าเมืองนี้บริหารโดยผู้รักชาติ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อการคุ้มครองอำนาจอธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ รวมถึงรับรองการดำเนินตามหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"
มาตรการต่างๆ ของจีนในการธำรงรักษาความมั่งคั่งรุ่งเรืองและเสถียรภาพของฮ่องกงในระยะยาวได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันศุกร์ (5 มี.ค.) เบลารุสในฐานะตัวแทน 70 ประเทศ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 46 เรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องเคารพอำนาจอธิปไตยของจีน และยุติการแทรกแซงกิจการภายในของจีน อันหมายรวมถึงกิจการในฮ่องกง นอกจากนั้นกว่า 20 ประเทศยังร่วมแสดงการสนับสนุนจีนในการประชุมดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ กิจการภายในของจีนเป็นสิ่งที่ต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ โดยเสถียรภาพและการพัฒนาในระยะยาวของฮ่องกงจะได้รับการรับประกันด้วยความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของจีนในการปกป้องอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ
(แฟ้มภาพซินหัว : หน้าจอฉายภาพหลักฐานการก่อความรุนแรงโดยกลุ่มผู้ก่อการจลาจล ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 15 พ.ย. 2019)