PIMO สัญญาณส่งออกฟื้น ออเดอร์แน่น-ต้นทุนลด
#PIMO #ทันหุ้น – PIMO ธุรกิจปีมังกรสดใส ตุนออเดอร์ล่วงหน้าถึงเดือนมีนาคมปีหน้าราว 100 ล้านบาท ส่งซิกตลาดส่งออกฟื้นตัว คาดสัดส่วนกลับมายืนระดับ 60% บอสใหญ่ “วสันต์ อิทธิโรจนกุล” ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 ชน 1.2 พันล้านบาท ชี้ต้นทุนวัตถุดิบลง หนุนมาร์จิ้นเพิ่ม
นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO ผู้ประกอบธุรกิจหลักผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning Motor) มอเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป (Induction Motor) เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ มอเตอร์สำหรับปั๊มบ้าน (Submersible Pump,Pool Spa Pump and Home Pump) เปิดเผยว่า บริษัทมองธุรกิจปี 2567 ยังเป็นภาพที่สดใส เพราะมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ในมือ 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) กว่าร้อยล้านบาท โดยสินค้าที่มีออเดอร์คือปั๊มชนิดพิเศษ BLDC หลังจากตลาดต่างประเทศชะลอตัว แต่ปัจจุบันตลาดอเมริกาเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้บริษัทมีออเดอร์ BLDC ไหลเข้า
** กำลังผลิตแน่น
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตกลุ่ม BLDC อยู่ที่ 200 ลูกต่อวัน คาดจะเพียงพอต่อออเดอร์ที่มีเข้า ขณะที่กำลังผลิตมอเตอร์ธรรมดา หรือ AC อยู่ที่ 1 แสนลูกต่อเดือน ปัจจุบันใช้กำลังไปเพียง 80% หรือ 80,000 ลูกต่อเดือน สำหรับทิศทางการขายสินค้าปั๊ม AC ในปี 2567 คาดจะดีขึ้นจากปีนี้ เพราะลูกค้าหลายรายมีช่องทางการระบายสินค้า ทำให้การขายปั๊ม AC มีแนวโน้มดีขึ้นจากที่ผ่านมา
บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2567 เป็น 1.2 พันล้านบาท ส่วนอัตรากำไร (มาร์จิ้น) คาดจะดีขึ้นจากปีนี้เช่นเดียวกัน เพราะต้นทุนราคาวัตถุดิบ เช่น ทองแดง ปรับตัวลดลงจาก 1 หมื่น เหลือ 9 พันต่อตัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อต้นทุนการผลิต
ขณะที่สัดส่วนรายได้ปี 2567 แบ่งเป็นการส่งออกไปขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 60% จากปัจจุบันที่ 50% เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว และการขายสูงขึ้น
ส่วนการลงทุนขยายกำลังผลิตในปี 2567 บริษัทไม่มีแผนลงทุนใดเพิ่มเติม แต่บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจการในกลุ่ม BLDC คาดจะได้ข้อสรุปปลายปี 2567
** ยอดขยายตัว
สำหรับแนวโน้มยอดขายในช่วงไตรมาส 4/2566 มองว่าจะมีการขยายตัวที่ดีกว่า เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากทิศทางคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) โดยเฉพาะในส่วนของต่างประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยบริษัทได้รับออเดอร์ใหม่จากต่างประเทศ หลังจากที่มีการเข้าไปขยายตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2566 ด้วยสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว และมีหลายปัจจัยภายนอกเข้ามากดดันทำให้การเติบโตของยอดขายในปีนี้ค่อนข้างมีความท้าทาย ส่งผลให้คาดว่าการเติบโตของรายได้ในปีนี้อาจลดลงกว่าปีก่อนที่ทำได้ระดับ 1,241.34 ล้านบาท ราว 20% แต่ยังเชื่อมั่นว่ารายได้ในปีนี้จะแตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาทได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อนึ่ง 9 บริษัทมีรายได้แล้วที่ 748.27 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 54.26 ล้านบาท