รีเซต

กอนช. ชี้มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ไม่กระทบตัวเมืองโคราช เตรียมพร้อมบริหารจัดการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล

กอนช. ชี้มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ไม่กระทบตัวเมืองโคราช เตรียมพร้อมบริหารจัดการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล
มติชน
18 ตุลาคม 2563 ( 16:09 )
105
กอนช. ชี้มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ไม่กระทบตัวเมืองโคราช เตรียมพร้อมบริหารจัดการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล

     นายสมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 อ่างเก็บน้ำหินตะโง่ บ้านลำประโคน หมู่ที่ 3 ตำบลลำนางแก้ว อำเภอปักธงชัย  ความจุ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เกิดการชำรุดและมีความเสียหายเนื่องจากมีมวลน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำและกัดเซาะคันดินด้านข้างขาด ทำให้มีปริมาณน้ำไหลออกจากอ่างเก็บน้ำประมาณ 1 ล้านลบ.ม. ซึ่งทางอำเภอปักธงชัยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำบริเวณ บ้านลำประโคน บ้านโนนสำโรง เทศบาลตำบลลำนางแก้ว อพยพของขึ้นที่สูง และย้ายกลุ่มเสี่ยงไปที่ปลอดภัยแล้ว จากการสำรวจพบว่ามีประชาชนริมลำน้ำได้รับผลกระทบประมาณ 40 ครัวเรือน ปัจจุบันปริมาณน้ำลดลงแล้ว ยังคงเหลือประมาณ 4-5  ครัวเรือนซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือประชาชน และหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมเหตุการณ์จะกลับสู่สภาพปกติภายในวันที่ 19 ตุลาคม 2563

 

ทั้งนี้ มวลน้ำที่ไหลจากอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ได้ไหลแผ่ออกไปในพื้นที่ราบก่อนแล้วไหลไปรวมกันที่คลองทราย และไหลลงลำพระเพลิง ที่ ตำบลบ่อปลาทอง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่ตำบลท่าลาดขาว อำเภอโชคชัย นครราชสีมา โดยปริมาณน้ำนี้ไม่มีผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ผ่านจังหวัดนครราชสีมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลในปัจจุบัน กอนช. มอบหมายกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ และจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี-มูล ด้วยการหน่วงน้ำในแม่น้ำชี เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำมูล

 

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า โดยปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ช่วยให้การระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะจากพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนลำพระเพลิงลงสู่แม่น้ำมูลได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป นอกจากนี้ ยังได้กำชับหน่วยงานให้เร่งสำรวจอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ฝนตกหนักเสี่ยงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

 

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบอ่างเก็บน้ำตามที่เป็นข่าวข้างต้น พบว่าเป็นอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ลำนางแก้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นงานชลประทานขนาดเล็ก ก่อสร้างโดยโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2530 จากนั้นได้ทำการถ่ายโอนภารกิจให้กับเทศบาลตำบลลำนางแก้ว เมื่อปี 2546 ต่อมากรมทรัพยากรน้ำ ได้ทำการขุดลอกเพิ่มความจุเป็น 559,840 ลบ.ม. และในปี 2548 ทาง อปท.ได้ทำการปรับปรุงทางระบายน้ำล้น (สปินเวย์) ให้สูงขึ้น 3 เมตร พร้อมกับเสริมความสูงทำนบดิน เพื่อเพิ่มความจุอ่างฯ เป็น 1.2 ล้าน ลบ.ม.

 

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบความเสียหายแล้ว พบว่าอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้รับความเสียหายบริเวณทำนบดินฝั่งขวาและทางระบายน้ำล้นของอ่างฯ ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนหนึ่งไหลออกจากอ่างฯ เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านลำประโคน บ้านโนนสำโรง ในเขตเทศบาลตำบลลำนางแก้ว  ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายและหาแนวทางในการซ่อมแซมอ่างฯต่อไปแล้ว สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลล้นออกมาจากอ่างฯนี้ จะไม่ไหลลงไปส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในลำพระเพลิงแต่อย่างใด จึงขอชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง