เสียงจากผู้ค้า ตั้งรางวัลนำจับ แก้ ‘หวยแพง’?
ทันทีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น โดยเป้าหมายหลักคือทำอย่างไรที่จะควบคุมราคาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ ไม่เกินราคากำหนดที่ตีตราไว้บนสลาก 80 บาท
ในประกาศครั้งนี้เปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแส เมื่อพบเห็นการขายสลากรัฐบาลเกินราคาที่ตราไว้ ผู้แจ้งเบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมเมื่อสิ้นสุดคดี จะได้รับเงินรางวัลคดีละ 1,000 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่จับกุมจะได้รับเงินรางวัล คดีละเท่ากับจำนวนเงินที่เปรียบเทียบปรับ แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคดี
รวมทั้งมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ปี 2517 เพิ่มโทษการขายเกินราคา จากเดิมปรับไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาทต่อครั้ง
โดยทำควบคู่กับการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสลาก ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
มุ่งเน้นตรวจเรื่องราคาขายเกินจริงไหม มีการรวมสลากใบเป็นชุดไหม ซึ่งจะนำไปสู่การยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
สถิติย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2563 พบว่า มีการยกเลิกตัวแทนขายทุกประเภท รวม 21,913 ราย
แต่เมื่อสอบถามผู้ค้าสลาก ยืนยันการตั้งรางวัลนำจับ 1,000 บาทไม่ใช่เรื่องใหม่ ตรงกันข้ามกลับเป็นการเพิ่มภาระคนค้าขาย แถมสูญทั้งงบประมาณ
ก่อปัญหายัดเงินใต้โต๊ะ!?!
ชัยวัฒน์ ระวีแสงสูรย์ ประธานเครือข่ายผู้ค้าสลากออนไลน์ไทยและสลากกินแบ่งรัฐ ระบุถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในครั้งแรกๆ ก็เป็นการบังคับใช้กฎหมายและมีการจับและปรับผู้ค้าสลากที่จำหน่ายสลากเกินราคาจริง
หลังจากนั้นจะกลายเป็นลักษณะของการเก็บส่วยหรือเงินใต้โต๊ะจากผู้ค้าเป็นรายงวด เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม
โดยผู้ค้าสลากจะจ่ายเงินส่วยในส่วนนี้ให้กับเจ้าหน้าที่จับกุม เท่ากับสำนักงานสลากฯได้เพิ่มภาระในส่วนนี้ให้ผู้ค้าโดยอ้อม
ช่วงสองปีที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ในการจ่ายค่ารางวัลนำจับ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จับกุมก็ใช้ช่องว่างนี้ทำการทุจริตได้
เมื่อจับและปรับแล้ว ค่ารางวัลนำจับอาจจะไม่มาก ผนวกกับผู้ค้าสลากเริ่มกลัว จึงเรียกเก็บเงินส่วยหรือเงินใต้โต๊ะแทน กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นในหลายจังหวัดและหลายพื้นที่
นอกจากนี้ เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่จับกุม กับ ผู้ค้าสลากที่จำหน่ายเกินราคา ตกลงจ่ายเงินใต้โต๊ะแลกกับการไม่จับกุม
หากหน่วยเหนือกวดขัน สุดท้ายมีการจับกุมจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม รางวัลนำจับก็จะตกในมือเจ้าหน้าที่อีกทาง
จะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่?!
เมื่อถามว่า มาตรการแบบนี้ จะทำให้ราคาจำหน่ายสลาก ที่ตอนนี้ขายเกินราคาลดลง หรือควบคุมราคาให้ไม่เกินกำหนดที่ 80 บาทได้จริงหรือ
ชัยวัฒน์ฟันธง “ไม่มีทางควบคุมได้ เพราะผู้ค้าสลาก จะอ้างว่าราคาสลากที่ขายส่งมาถึงเขา ราคาต้นทุนมาสูง จึงไม่สามารถจำหน่ายสลากที่ราคาควบคุม 80 บาทได้ เมื่อขายเล่มสลากเปลี่ยนมือกันมาในราคาแพง ก็ต้องจำหน่ายปลีกราคาแพงตาม แล้วต้องเสี่ยงถูกจับและลงโทษปรับ เมื่อขายเกินราคา ส่วนกฎหมายโทษปรับนั้น ออกมาได้กว่า 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ฉบับปี 2517 ได้แก้ไขใหม่เมื่อปี 2562”
ชัยวัฒน์ย้ำอีกว่า สถานการณ์การจับและปรับผู้ค้าสลากเกินราคาโดยจูงใจด้วยรางวัลนำจับ เป็นสิ่งที่เคยมีมาแล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นการนำมาประกาศให้มันเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง
เวลานี้สิ่งที่ผู้ค้าสลากต้องเจอ คือ การถูกจับและปรับ แต่ถ้าเกิดผู้ค้าสลากไม่อยากถูกจับและปรับในทุกงวด ก็ต้องมีการจ่ายส่วยใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่จับกุม กลับมาเป็นวงจรเดิมๆ
เมื่อถามไปถึงผู้ค้าสลากในกลุ่มอิสระทั่วไป ก็สะท้อนเหมือนกันหมด ถึงความกังวลว่าประกาศนั้นจะกลายเป็นปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะก่อเกิดวงจรการจ่ายส่วยใต้โต๊ะให้มากขึ้น กลายเป็นผู้ค้าสลากเป็นผู้ถูกกระทำ
อีกมุมมองเลยคือเมื่อยึดหลักกฎหมายแล้ว จะมีผลช่วยเรื่องลดการจำหน่ายสลากเกินราคาไหม “ตอนแรกๆ ก็มีผลช่วยได้ แต่พอนานๆ ไป มันจะกลายเป็นความจำเป็นที่ผู้ค้าสลากต้องยอมจ่ายส่วย เพื่อหลบซ่อนและหลบหลีกการถูกลงโทษ”
เมื่อสอบถามเครือข่ายคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องพึ่งพารายได้จากการค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ถึงการแก้ไขการจำหน่ายสลากเกินราคา ด้วยการจูงใจ มอบรางวัลนำจับ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาตรงจุดได้แค่ไหน ผู้ค้ารายหนึ่ง กล่าวกับ “มติชน” ว่า มันเป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และยังเปิดช่องทางทุจริตให้กับเจ้าหน้าที่จับกุม หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร้อนใจมาก เกรงเป็นการสร้างภาระหนักให้กับผู้ค้าสลากด้วย
นอกจากนี้ ในวงการค้าสลากรายย่อย ตามแผงตลาดสด และแผงค้าใกล้สำนักงานสลาก อธิบายเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ว่า “ที่ว่าเจ้าหน้าที่จับกุม จะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง นั่นคือ รับเงินใต้โต๊ะจากผู้ค้าสลาก และถ้าหากผู้ค้าสลากไม่ยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะ จะถูกจับกุมและเจ้าหน้าที่จับกุมก็ได้รับเงินจากการจับกุมได้”
โดยจำนวนเงินที่ได้ คือ เท่ากับค่าปรับแต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อคดี สมมุติว่าจับได้ ค่าปรับมีมูลค่าราคา 2,000 บาท เจ้าหน้าที่จับกุมก็ได้ 2,000 บาท แต่ถ้าปรับได้ 5,000 บาท หรือ 10,000 บาท ก็จะได้ 2,000 บาท ตามกำหนดสูงสุด แต่ถ้าเกิดค่าปรับ 1,000 บาท เจ้าหน้าที่ ก็จะได้รางวัลนำจับ 1,000 บาทเช่นกัน
และที่เห็นกันบ่อยๆ ในวงจรทุจริต คือ ว่าจ้างคน มาเป็นผู้ชี้เบาะแส เพื่อให้ได้รางวัลนำจับ 1,000 บาท และหวั่นจะกลายเป็นช่องทางเกิดมิจฉาชีพตกทรัพย์จากการค้าสลาก
เมื่อย้อนไปดูสถิติครั้งมีการประกาศว่าได้ใช้รางวัลนำจับขายสลากแพงเมื่อ 5-6 ปีก่อน ปรากฏว่า ปีแรกๆ มียอดการใช้งบประมาณสูงเฉลี่ย 2-5 ล้านบาท ปีต่อมาการประชาสัมพันธ์ลดลง และการค้าขายเกินราคากลายเป็นเรื่องที่สังคมรับได้และพอใจที่จะจ่ายซื้อในราคา 100-120 บาท กับเลขมงคล เลขดัง และการได้รับรางวัลสูงๆ ก้อนใหญ่กับการรวมเล่ม เรื่องล่ารางวัลนำจับก็ซาลง จนถึงปัจจุบัน งบที่ใช้ในการนี้ก็ประมาณ 10 ล้านบาท
และครั้งก่อนหน้านี้ โทษค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง ขยับเป็น 10,000 บาทต่อครั้ง ก็ใช้กันมาระยะหนึ่งแล้ว และยังมีโทษหนักกว่าถึงขั้นเอาผิดเป็นคดีอาญา ถึงโทษจำคุก แต่ปัจจุบันยกเลิกบทลงโทษทางคดีอาญา เหลือแค่ทางแพ่ง
และหลายเสียงก็อยากให้รัฐเตรียมพร้อมที่จะเกิดขบวนการนักล่ารางวัล เพราะขณะนี้มีผู้ตกงาน และคนจนมากขึ้น ก็อาจเป็นช่องทางหาเงินหรือตบทรัพย์คนหาเช้ากินค่ำเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ทุกเสียงที่อยู่ในวงจรค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงยืนยันทางแก้ไข หนทางที่ดีในขณะนี้เพื่อผ่อนคลายราคาสลากแพงเว่อร์ คือทยอยออกผลิตภัณฑ์สลากแบบใหม่ๆ มาเป็นทางเลือก ตามกลไกตลาดเมื่อของในตลาดจำนวนมาก มีหลากหลายทางเลือก ราคาย่อมลดลงโดยปริยาย
ได้ผลกว่ามาตรการนำจับแน่นอน!?!