รีเซต

โควิด-19 หักปากกาเซียนหลายด้าม แพทย์รับยังต้องศึกษา-ติดตามต่อไป

โควิด-19 หักปากกาเซียนหลายด้าม แพทย์รับยังต้องศึกษา-ติดตามต่อไป
มติชน
25 มกราคม 2564 ( 16:18 )
96

วันนี้ (25 มกราคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สำหรับประเทศในทวีปเอเชีย พบมีการระบาดมากในอินโดนีเซีย เฉลี่ยวันละ 12,000 ราย รองลงมาเป็น ญี่ปุ่น เฉลี่ยวันละ 5,000 ราย ส่วน มาเลเซีย อยู่อันดับ 58 ของโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,348 ราย สะสม 183,801 ราย

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์ จ.สมุทรสาคร ว่า ยังดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนอย่างเข้มข้น โดยสัปดาห์นี้จะระดมกำลังกว่า 40 ทีม ปูพรมตรวจในพื้นที่

 

“ฉะนั้น หากจะพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกครั้งก็เกิดจากการค้นหาเชิงรุก เพราะเป็นมาตรการที่เราต้องการเข้าถึงผู้ติดเชื้อ ซึ่งข้อมูลระบาดรอบใหม่ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ โดยโรคนี้ก็หักปากกาเซียนมาหลายเรื่อง เช่น แพร่เชื้อได้ก่อนที่จะแสดงอาการ บางรายอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ขณะที่โรคติดเชื้อ เมื่อติดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไม่ให้ติดซ้ำ ส่วนโรคนี้มีรายงานการติดเชื้อซ้ำได้ แต่ยังอยู่ในจำนวนน้อย ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เราต้องศึกษาติดตาม เพื่อดูว่ามาตรการที่ใช้ต่อสู้จะได้ผลดีแค่ไหน จะต้องติดตามต่อเนื่องกันไป” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า มาตรการทุกประเทศ ล้วนแล้วแต่ต้องการฟื้นฟูให้ลุกขึ้นมาเร็วที่สุด แต่ต้องเรียนว่าคำว่าเร็วที่สุด ต้องคู่กับคำว่าดีที่สุดด้วย การลุกขึ้นมาเร็ว อาจซวนเซ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบยาว การควบคุมโรคต้องประเมินทุกด้าน ลุกขึ้นอย่างมั่นคง มีคุณภาพ และไม่ช้าเกินไป จึงต้องฝากประชาชนในการดูแลตัวเอง รักษาระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด ขณะที่ การใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัว จะทำให้มีการตรวจย้อนกลับไปได้ว่ามีใครเข้าใกล้กัน ซึ่งหมอชนะเป็นการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น บอกถึงระยะห่างเมื่ออยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่กิจกรรมที่ทำระหว่างกัน การสวมหน้ากากอนามัย ทางแอพพ์ฯ จะส่งข้อความเตือนไปให้สังเกตอาการตัวเอง ระวังการเดินทางไปที่อื่น

 

“แอพพ์ฯ จะช่วยให้ผู้สอบสวนโรคสามารถหาความชัดเจนได้ มีการแจ้งเตือนผู้ใช้ และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะตำแหน่งโดยจีพีเอส (GPS) ไม่มีการเจาะจงเบอร์โทรศัพท์ แต่ทำงานตามระบบของคอมพิวเตอร์ เพื่อดูว่าเป็นแอพพ์ฯ ที่ลงในเครื่องไหน ก็จะส่งแจ้งเตือนไป ซึ่งผู้ใช้แอพพ์ฯ เป็นการรับผิดชอบต่อสังคม จึงขอให้ทุกคนร่วมกันโหลดไว้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น จะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า พิจารณาทุก 2 สัปดาห์ เพื่อดูสถานการณ์และประเมินมาตรการ สำหรับการระบาดรอบใหม่ จะเห็นว่าจำนวนจังหวัดที่พบการติดเชื้อลดน้อยลงชัดเจน แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่พบการติดเชื้อไม่มาก มีการขีดวง จำกัดการแพร่กระจายได้ดี ก็น่าจะได้รับการพิจารณาผ่อนคลายความเข้มข้นลงไป ส่วนพื้นที่ที่ยังพบผู้ติดเชื้อชุก ยังต้องอดทนและมีมาตรการที่ต่อเนื่องอยู่ แต่จะมีการคลายลงในบางส่วนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง