'4 โครงการชลประทานจีนโบราณ' คว้าตำแหน่ง 'มรดกโลก'
ปักกิ่ง, 9 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (8 ธ.ค.) กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนเปิดเผยว่าโครงการชลประทานโบราณ 4 แห่งของจีน ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางชลประทาน (WHIS) โดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) ทำให้ปัจจุบันจีนมีโครงการชลประทานในบัญชีรายชื่อดังกล่าวรวม 23 โครงการแล้ว
ฝายเทียนเป่า (Tianbao Weir) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัลรอบใหม่ ตั้งอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน จัดเป็นโครงการน้ำเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ของจีน โดยมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1,200 ปี ถูกใช้งานเพื่อสกัดกั้นน้ำเค็มและกักเก็บน้ำจืดโดยเฉพาะ
คลองหลงโส่ว (Longshou Canal) และเขตชลประทานโบราณแม่น้ำลั่วเหอ (Ancient Luohe River Irrigation District) ในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ถูกเล่าขานว่ามีความเชื่อมโยงกับคลองใต้ดินแห่งแรกในประวัติศาสตร์จีน รับหน้าที่ช่วยผันน้ำจากแม่น้ำลั่วเหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำเหลือง เพื่อจัดสรรน้ำแก่ฟาร์มท้องถิ่นยามแห้งแล้งและขาดน้ำ
โครงการฝายไป๋ซาซี (Weirs of Baishaxi Stream Project) ในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 45 กิโลเมตร บริเวณลำธารไป๋ซาซี ประกอบด้วยฝายรวม 36 แห่ง โดยฝาย 21 แห่งยังคงจัดสรรน้ำเพื่อการชลประทาน และมีระดับน้ำลดรวม 168 เมตร
ระบบทำนบซางหยวนเหวย (Sangyuanwei Polder Embankment System) ตั้งอยู่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน โดยการก่อสร้างเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 10 ตัวเขื่อนมีความยาว 64.8 กิโลเมตร มาพร้อมโครงการชลประทาน คลองระบายน้ำ และทางน้ำ
นอกจากโครงการทั้งสี่แห่งของจีนแล้ว ยังมี 10 โครงการชลประทานจาก 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกทางชลประทานในปีนี้ด้วย
คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) ก่อตั้งเมื่อปี 1950 จัดเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านการชลประทาน การระบายน้ำ และการควบคุมน้ำท่วม
คณะกรรมาธิการฯ จัดตั้งรางวัลมรดกโลกทางชลประทานในปี 2014 มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและส่งเสริมโครงการชลประทานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีโครงการชลประทานเก่าแก่ 105 โครงการทั่วโลกได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อข้างต้น
ด้านเฉินหมิงจง เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ กล่าวว่าโครงการชลประทานโบราณเป็นสมบัติล้ำค่าของการพัฒนาวัฒนธรรมทางน้ำจีน อีกทั้งมีคุณค่ายิ่งยวดต่อการพัฒนาการเกษตรชลประทานในจีน