หมอธีระ คาดชี้จุดพีค "โอมิครอน" อาจทะลุ 8.5 หมื่นราย/วัน
วันนี้( 24 ก.พ.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
โดยระบุว่า "24 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 429 ล้านแล้วเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,750,778 คน ตายเพิ่ม 9,939 คน รวมแล้วติดไปรวม 429,745,703 คน เสียชีวิตรวม 5,935,053 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ รัสเซีย บราซิล และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.46 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.22
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.95 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 34.51 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สถานการณ์ไทย
ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ระบาดรุนแรง กระจายไปทั่ว กราฟการระบาดของตัวเลขติดเชื้อยืนยันในแต่ละวันนั้นไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง เพราะคนจำนวนมากมายที่ไม่ได้เข้าถึงการตรวจ RT-PCR แต่ตรวจด้วย ATK
หากรวมรายงานจำนวน ATK ที่เห็นในเว็บของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะพบว่าจำนวนติดเชื้อรวมในแต่ละวันทะลุไปเกือบ 2 เท่าของระลอกเดลต้า
อย่างไรก็ตาม จำนวนติดเชื้อในสถานการณ์จริงจะมีมากกว่านั้น เพราะต้องมีการตรวจ ATK ที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบ จำนวนติดเชื้อจริงจึงน่าจะมากกว่าที่เห็น โดยที่ยังไม่รวมถึงคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ เพราะมีปัญหาเศรษฐานะหรืออื่นๆ
ทั้งนี้จากธรรมชาติการระบาดของทั่วโลกที่ได้เคยทบทวนและวิเคราะห์ จะพบว่าจำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันในระลอก Omicron จะสูงกว่าเดลต้าราว 3.65 เท่า นั่นคือ ไทยเราเคยมีรายงานติดเชื้อ 23,418 คน ณ 13 สิงหาคม 2564 จึงคาดว่าถ้าเราเป็นเหมือนค่ามัธยฐานของประเทศอื่นที่ผ่านพีค Omicron มาแล้ว การติดเชื้อสูงสุดต่อวันอาจอยู่ราว 85,476 คน
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการการตรวจทั้ง RT-PCR และ ATK ในประเทศย่อมส่งผลโดยตรงต่อจำนวนติดเชื้อที่จะตรวจพบ พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า ตรวจแค่ไหนก็เจอแค่นั้น หากตรวจน้อยตัวเลขก็ย่อมสวยงาม เราจึงเห็นประเทศต่างๆ ที่ระบาดมาก แต่ใส่ใจในสวัสดิภาพของทุกคนในสังคม จึงตะลุยตรวจ เพื่อให้คนได้ทราบสถานะสุขภาพของตน และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ป้องกันตนเองและคนรอบข้างได้
นี่คือหัวใจสำคัญที่ย้ำตลอดมาว่า ระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการรับมือการระบาดหนัก ต้องมีศักยภาพการตรวจมาก ไม่เสียค่าใช้จ่าย เข้าถึงได้ง่ายโดยทุกคน โดยไม่ติดกฎเกณฑ์
บทเรียนตลอดปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน ชี้ให้ประชาชนทุกคนในสังคมเห็นชัดเจนว่า นโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข การควบคุมป้องกันโรค การตรวจคัดกรองโรค รวมถึงวัคซีน นั้นเป็นเช่นไร และทำให้เราใช้ชีวิตท่ามกลางความปลอดภัยหรือเสี่ยงมากขึ้น
จากบทเรียนที่เราเห็นได้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นโยบายสาธารณสุขที่ดี มีประสิทธิภาพ ย่อมนำพาไปสู่การมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในสังคม ไม่เกิดความสูญเสียมากมาย ทั้งในเรื่องความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เจ็บป่วย เสียชีวิต รวมถึงจะไม่เห็นการรอคิวตรวจข้ามคืน การติดค้างอยู่บนท้องถนน การทำอัตวินิบาตกรรม หรืออื่นๆ สำหรับประเทศที่ระบาดมาก รวมถึงไทยเรา การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
หากไม่สบาย แม้เล็กน้อย ก็ควรแจ้งคนใกล้ชิดในครอบครัวและในที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน รีบไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
ไม่ติดเชื้อย่อมดีกว่า
เพราะโควิดติดไม่ใช่แค่คุณ
และจะมีโอกาสเกิดปัญหา Long COVID ระยะยาว
ขอให้ช่วยเหลือแบ่งปันกันตามกำลัง สู้ไปด้วยกัน และปลอดภัยไปด้วยกัน
เปิดโหมด survival กันนะครับ...มั่นใจว่าคนไทยเราทำได้"
ภาพจาก รอยเตอร์/AFP/Thira Woratanarat