รีเซต

จับตา 'ไลออนร็อก' กำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน 'ป้อม' ลุยสระแก้วดูท่วม-ช่วยชาวนาไร่ละ 1.3 พัน

จับตา 'ไลออนร็อก' กำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน 'ป้อม' ลุยสระแก้วดูท่วม-ช่วยชาวนาไร่ละ 1.3 พัน
มติชน
9 ตุลาคม 2564 ( 08:46 )
42
จับตา 'ไลออนร็อก' กำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน 'ป้อม' ลุยสระแก้วดูท่วม-ช่วยชาวนาไร่ละ 1.3 พัน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 7 (155/2564) เวลา 05.00 น. วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา แจ้งว่าพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ไลออนร็อก มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 600 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวิญ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

โดยพายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ และคาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบนในวันที่ 10-11 ต.ค. ทั้งนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร

 

กอปภ.ก. จึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาตลอด 24 ชั่วโมง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำสะสม ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ให้เหลือน้อยกว่า 20% ภายใน 1 เดือน ปัจจุบันการเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำได้เก็บกักน้ำเต็มความจุแล้วจำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง รับน้ำแล้วรวม 1,137 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ของความจุ มีทุ่งที่ยังรับน้ำน้อยกว่า 50% จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก คิดเป็น 26% และทุ่งเจ้าเจ็ด 39% ขณะเดียวกันสทนช.ประเมินว่าสิ้นสุดฤดูฝนวันที่ 1 พฤศจิกายน ทั้งประเทศไทยมีปริมาตรน้ำ 55,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 68% ของความจุ ขณะที่น้ำใช้การได้จะอยู่ที่ 27,909 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของน้ำใช้การ จากมาตรการเร่งเก็บกักน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตลอดช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาก็ทำให้เบาใจในระดับหนึ่งว่าในปีนี้ทุกภาคมีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าปี 2563

 

รายงานข่าวจากกรมชลประทาน ระบุว่าขณะนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ทยอยลดการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายอ่างฯ เหลือ 750 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ก่อนจะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองระพีพัฒน์ประมาณ 190 ลบ.ม./วินาที และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในเกณฑ์ 790 ลบ.ม./วินาที ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วัดได้ 2,505 ลบ.ม. มีแนวโน้มลดลง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท กรมชลประทานได้ใช้คลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรับน้ำรวม 407 ลบ.ม./วินาที

 

พร้อมทั้งได้ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือ 2,602 ลบ.ม./วินาที และแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป

 

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สระแก้ว พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ จ.สระแก้วกำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 และในระยะยาวรัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชน

 

ทั้งนี้ จ.สระแก้วเป็นพื้นที่ที่มักประสบปัญหาด้านอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยเฉพาะใน อ.อรัญประเทศ มีชุมชน ย่านการค้าการลงทุน ตลาดการค้าชายแดน และบริเวณลุ่มน้ำคลองพระสะทึง มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เช่น ระบบคลองผันน้ำและอาคารบังคับน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายลำน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำ เป็นต้น

 

ที่ จ.อุบลฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล ส่วนหน้า ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 ว่า พบว่านาข้าวในฤดูนาปี 2564/65 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ในพื้นที่จำนวน 38 จังหวัด 285 อำเภอ 1,583 ตำบล จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ นครสวรรค์ สุโขทัย และจังหวัดพิจิตร

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมได้มีมาตรการการดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวหลังจากประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติประเมินพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิง โดยพี่น้องชาวนาจะได้รับความช่วยเหลือไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง