รีเซต

อัฟกานิสถาน : ทำไมคนชนบทบางส่วนจึงยินดีที่ตาลีบันกลับมาปกครองประเทศ

อัฟกานิสถาน : ทำไมคนชนบทบางส่วนจึงยินดีที่ตาลีบันกลับมาปกครองประเทศ
ข่าวสด
28 กันยายน 2564 ( 10:38 )
42
อัฟกานิสถาน : ทำไมคนชนบทบางส่วนจึงยินดีที่ตาลีบันกลับมาปกครองประเทศ

ด้านในบ้านที่ทำจากอิฐดินทั้งเย็น สะอาด และเงียบสงบ ชายคนหนึ่งที่ชื่อ "ชัมซุลเลาะห์" ซึ่งมีลูกชายตัวน้อยตามเกาะแข้งเกาะขา นำทางคณะผู้มาเยือนเข้าไปสู่ห้องที่ใช้ต้อนรับแขก

 

 

พื้นห้องปูด้วยพรมและมีเบาะนั่งเรียงไปตามแนวผนัง ซึ่งมีความหนาไม่ต่ำกว่า 2 ฟุต ในห้องตกแต่งด้วยสมบัติไม่กี่ชิ้นที่ครอบครัวมี ที่ชั้นเล็ก ๆ มีขวดแก้วย้อมสีตั้งโชว์อยู่ราว 6 ใบ พวกเขาไม่ใช่ครอบครัวคนร่ำรวย สมบัติที่พวกเขาเคยมีถูกทำลาย หรือไม่ก็ถูกปล้นไปในช่วง 20 ปีหลังของสงครามในอัฟกานิสถาน

 

 

บ้านหลังนี้ห้อมล้อมไปด้วยกำแพงดินสูง เหมือนกับบ้านทั่วไปในเมืองมาร์จาห์ ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรมที่ได้กลายมาเป็นสมรภูมิรบในจังหวัดเฮลมานด์ ทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน

 

 

ชัมซุลเลาะห์ นำทีมข่าวบีบีซีเข้าไปพบกับ "โกลจูมา" แม่วัย 65 ปีของเขาที่สวมผ้าคลุมที่มีเพียงช่องเล็ก ๆ ให้มองลอดออกมาได้

 


ชัมซุลเลาะห์ (ซ้าย) กับลูกชาย และโกลจูมา แม่วัย 65 ปี

 

 

เสียงของโกลจูมาฟังดูเข้มแข็งเวลาที่เธอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศกของเธอ และสงครามที่ทำลายชีวิตของเธอ และคร่าชีวิตลูกชายคนโตทั้ง 4 คน

 

 

ชัมซุลเลาะห์เป็นลูกชายคนเล็กที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวของเธอ เขาอายุ 24 ปี แต่มีใบหน้าที่ดูแก่กว่าอายุจริงถึง 10 ปี

 

ลูกชายคนโตของโกลจูมามีชื่อว่า เซีย อัล ฮัก เสียชีวิตเมื่อ 11 ปีก่อน เขาเป็นนักรบตาลีบัน

"ลูกชายฉันเข้าร่วมกับตาลีบันเพราะเขาเข้าใจว่าพวกอเมริกันต้องการทำลายอิสลาม และอัฟกานิสถาน" ผู้เป็นแม่เล่า

ส่วนลูกชายที่เหลืออีก 3 คน ก็เสียชีวิตติด ๆ กันภายในเวลาไม่กี่เดือนในปี 2014 ควอดราตัลเลาะห์ถูกสังหารในการโจมตีทางอากาศ ส่วนลูกอีก 2 คน คือ ฮายาตุลเลาะห์ และอามีนุลเลาะห์ถูกจับกุมหลังตำรวจเข้าบุกบ้านพัก

ชัมซุลเลาะห์เล่าว่า พี่ชายทั้งสองถูกบังคับให้เข้าร่วมกองทัพอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะเสียชีวิต ในฐานะผู้รอดชีวิตที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว เขาบอกว่า พระเจ้าได้ตัดสินใจว่าเขาคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว

"คุณเคยพยายามประคองแตงโม 5 ลูกไว้ในมือเดียวไหม? นี่คือสิ่งที่ผมต้องทำ" เขาบอกกับเจอเรมี โบเอน บรรณาธิการข่าวตะวันออกกลางของบีบีซี

 

 

ภาระหน้าที่ของเขารวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ของพี่สะใภ้ ซึ่งเป็นภรรยาของพี่ชายคนโตที่เป็นนักรบตาลีบัน

 

ชัมซุลเลาะห์เล่าว่า เมื่อพี่ชายคนโตเสียชีวิต ภรรยาของเขาต้องแต่งงานกับพี่คนรอง เมื่อพี่ชายคนรองเสียชีวิตเธอก็แต่งงานกับพี่ชายคนถัดมา และเมื่อเขาเสียชีวิตลง พี่ชายคนที่ 4 ก็ต้องแต่งงานกับเธอ และเมื่อพี่คนที่ 4 เสียชีวิตก็เป็นคราวของเขาที่ต้องแต่งงานกับพี่สะใภ้

 

ในปี 2010 เมืองมาร์จาห์ ถูกเลือกเป็นจุดแรกในปฏิบัติการทางทหารที่สั่งการโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ด้วยความหวังที่จะขับไล่ตาลีบันออกไป

 

ทว่าปฏิบัติการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นทุ่งปลูกฝ้ายและทุ่งฝิ่นได้กลายเป็นฝันร้ายของกองทัพชาติตะวันตกในการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบันที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่เป็นอย่างดี

 

โกลจูมาแสดงความเกลียดชังเหล่าผู้นำโลกตะวันตกที่พยายามทำให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ดีขึ้นสำหรับคนอัฟกัน "ฉันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับภารกิจของพวกเขา แต่พวกเขาได้ทำลายประเทศของเรา" เธอกล่าว

 

เธอยังแสดงความกังขาตอนที่บีบีซีถามถึงโอกาสต่าง ๆ ที่ผู้หญิงอัฟกันสามารถทำได้ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้วหลังจากตาลีบันเข้ายึดครอง

 

เธอกล่าวว่า "ผู้คน [อัฟกัน] มากมายต้องเดือดร้อนแสนสาหัสตอนที่พวกเขา [กองทัพชาติตะวันตก] อยู่ที่นี่ พวกเขาฆ่าสามีของพวกเรา ฆ่าพี่ชายน้องชาย และลูกชายของพวกเรา...ฉันชอบตาลีบัน เพราะพวกเขาเคารพอิสลาม ผู้หญิงอย่างฉันไม่เหมือนผู้หญิงในคาบูล"

หนึ่งคำถามที่ผุดขึ้นในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ หญิงสูงวัยผู้นี้พูดออกมาโดยอิสระหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อของตาลีบันยืนกรานให้ทีมข่าวบีบีซีลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านภายใต้การอารักขาและการแปลภาษาของสมาชิกตาลีบัน

 

ทีมข่าวบีบีซีรู้สึกว่าหากไม่มีตาลีบันติดตามในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ก็อาจได้ยินชาวบ้านพูดถึงความหวาดกลัวที่พวกเขามีต่อกลุ่มติดอาวุธนี้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวบีบีซีไม่มีความกังขาต่อความรู้สึกของโกลจูมาตอนที่เธอประณามความเสียหายของชุมชนเกษตรกรรมในจังหวัดเฮลมานด์จากการกระทำของกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯ และความโศกเศร้าจากการสูญเสียลูกชายทั้งสี่ของเธอ

 

ในปี 2001 หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และชาติพันธมิตรได้ส่งกองทัพบุกอัฟกานิสถาน ด้วยเป้าหมายที่จะทำลายกลุ่มอัลไคดา และลงโทษกลุ่มตาลีบันที่ให้ที่พักพิงต่อสมาชิกอัลไคดา

 

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา เป็นทั้งเรื่องที่ยากจะเข้าใจหรือสร้างความชอบธรรมได้ การพัฒนาอัฟกานิสถานที่ชาติตะวันตกใช้เป็นข้ออ้าง เช่น การพัฒนาด้านประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจจะมาจากปากกระบอกปืนได้

 

และแม้คนรุ่นใหม่ทั้งชายหญิงจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แทบจะไปไม่ถึงชาวอัฟกันที่ยากจนและเข้าไม่ถึงการศึกษาตามพื้นที่ชนบทอย่างเช่นครอบครัวของโกลจูมาเลย

 

ตอนที่ตาลีบันกุมอำนาจในอัฟกานิสถานครั้งแรกในปี 1996 พวกเขาใช้ความรุนแรงบังคับให้ผู้คนทำตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เคร่งครัดของกลุ่ม แต่ปัจจุบันคนอัฟกันส่วนใหญ่อายุน้อยเกินกว่าจะจดจำช่วงเวลาเหล่านั้นได้

 

 

ในเมืองลัชคาร์ กาห์ คนหนุ่มสาวพากันหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบันทึกภาพเมื่อเห็นทีมข่าวบีบีซี ค่าเครือข่ายโทรศัพท์ที่นี่มีราคาถูก ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกลุ่มตาลีบันก็ดูข่าวบีบีซีภาษาปาทาน หรือภาษาพัชโต (Pashto) จากโทรศัพท์ของเขา โลกได้เปิดออกสู่พวกเขาในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งตาลีบันห้ามการถ่ายภาพ

 

 

นักรบของตาลีบันในตอนนี้ก็ไม่ใช่เด็กหนุ่มที่โตขึ้นโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกแล้ว กลุ่มจะสามารถบังคับให้นักรบของตัวเอง และยิ่งไม่ต้องพูดถึงคนทั้งประเทศให้เลิกใช้โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ครั้งนี้อาจเป็นเรื่องยากกว่าที่จะปกครองประเทศในแบบที่ตาลีบันเคยทำมาในอดีต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง