รีเซต

พิษโควิดกระทบธุรกิจตั้งใหม่ 9เดือนหดตัว13% เวชภัณฑ์การแพทย์โตดีแห่ยื่นเพิ่ม37%

พิษโควิดกระทบธุรกิจตั้งใหม่ 9เดือนหดตัว13% เวชภัณฑ์การแพทย์โตดีแห่ยื่นเพิ่ม37%
มติชน
27 ตุลาคม 2563 ( 13:11 )
82
พิษโควิดกระทบธุรกิจตั้งใหม่ 9เดือนหดตัว13% เวชภัณฑ์การแพทย์โตดีแห่ยื่นเพิ่ม37%

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เดือนกันยายน 2563 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ จำนวน 5,636 ราย ลดลง 1,318 รายหรือลด 19% เทียบเดือนกันยาบนปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 12,782 ล้านบาท ลดลง 55% เทียบปีก่อน ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 592 ราย รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทมากที่สุด 4,176 ราย คิดเป็น 74.10%

 

โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 3/2563 มีจำนวน 16,841 ราย เพิ่มจากไตรมาส 2/2563 จำนวน 2,919 ราย หรือคิดเป็น 21% และเทียบกับไตรมาส 3/2562 ลดลง 2,545 ราย หรือคิดเป็น 13% ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร ทำให้ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2563 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่รวม 50,178 ราย ลดลง 7,430 ราย หรือลดลง 13% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

 

นายทศพล กล่าวว่า ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายน 2563 มีจำนวน 1,568 ราย ลดลง 370 รายหรือลด 19% เทียบเดือนกันยายนปีก่อน โดย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 8,480 ล้านบาท ซึ่งลดลง 45% เทียบปีก่อน ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจเลิกประกอบกิจการช่วงทุนทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทมีมากสุด จำนวน 1,087 ราย คิดเป็น 69.33%

 

โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 3/2563 มีจำนวน 4,166 ราย เทียบกับไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้น 1,108 ราย คิดเป็น 36% และเทียบกับไตรมาส 3/2562 ลดลง 1,121 ราย คิดเป็น 21% ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 3/2563 มี 21,556 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้น9,664 ล้านบาท คิดเป็น 81% และเทียบกับไตรมาส 3/2562 เพิ่มขึ้น 31,017 ล้านบาท คิดเป็น 59% ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีมากสุด จำนวน 2,855 ราย คิดเป็น 68.53% ทำให้เดือนมกราคมถึงกันยายน มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 1,561 ราย หรือ ลดลง 13% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

 

นายทศพล กล่าวว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนกันยายน2563 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจ 51 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 29 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุน 15,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 6,413 ล้านบาท คิดเป็น 71% เทียบกับเดือนก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 14 ราย เงินลงทุน 1,372 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 4 ราย เงินลงทุน 712 ล้านบาท และฮ่องกง 4 ราย เงินลงทุน 260 ล้านบาท

 

นายทศพล กล่าวต่อว่า ธุรกิจขายสินค้าทางเวชภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ถือเป็นธุรกิจเด่นในปี 2563 เนื่องจากปริมาณผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น กระแสการดูแลสุขภาพ และการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ทำให้ปี 2563 มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจมากขึ้นถึง 37% เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตทางรายได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจขนาดใหญ่ มีความสามารถในการสร้างรายได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก แต่กำไรส่วนใหญ่เกิดจาก ธุรกิจขนาดเล็ก แสดงถึงการบริหารจัดการของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีความคล่องตัว และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขายสินค้าทางเวชภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2560-62 พบว่า มีอัตราการจดทะเบียนและมูลค่าการลงทุนจัดตั้งใหม่ในทิศทางเดียวกัน โดย 9 เดือนแรกปีนี้จัดตั้งเพิ่มขึ้น 101% แง่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ส่วนใหญ่นำเข้ากลุ่มครุภัณฑ์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์

 

สำหรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยา มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยแต่ละปีมีจำนวนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยาปีละกว่า 20,000 ใบอนุญาต เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การบริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการแข่งขันในส่วนร้านค้าปลีกและร้านขายยา ทั่วไปแข่งขันในแง่ของการขยายสาขาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง