ไทยภักดี จัดระดมทุนพรรค 23 ต.ค. "หมอวรงค์" ชูนโยบาย "ปราบโกง พรุ่งนี้รวย"
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 23 ตุลาคม เวลา 13.00-15.30 น. ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ อิมแพค เมืองทองธานี พรรคไทยภักดีจะจัดงานระดมทุนครั้งใหญ่ของพรรค เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้ชื่อ “รบแตกหักคนโกงชาติ ปฏิบัติพลังงาน พรุ่งนี้รวย” ทั้งนี้ตั้งเป้าขั้นต่ำไว้ประมาณ 50 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการเปิดตัวทีมงานพรรคชุดใหญ่ทั้งหมด รวมถึงแถลงนโยบายพรรค เชื่อว่าสิ่งที่จะนำเสนอบนเวทีนั้นเป็นเซอร์ไพรส์ของประเทศ
สำหรับนโยบายที่โดดเด่นของพรรคไทยภักดีนั้น ในกรอบใหญ่ยังเหมือนเดิม คือ การปกป้อง ปราบโกง และปฏิรูป โดยธีมที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ‘ปราบโกง พรุ่งนี้รวย’ เชื่อว่าเป็นนโยบายที่แปลกใหม่ เพราะเรามีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก โดยใช้วัตถุดิบในการผลิตจากเกษตรกร นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น
ผู้สื่อข่าวถามว่าการเปิดระดมทุน จุดขายพรรคคืออะไร นพ.วรงค์ กล่าวว่า “จริงๆแล้วผมว่าพูดตรงกลางจุดยืนของเรา โดยเฉพาะนโยบาย ผมเชื่อว่าเป็นนโยบายที่พรรคอื่นไม่เหมือนพรรคเรา คือ พรรคจะชูจุดขายเรื่อง “การปราบโกง พรุ่งนี้รวย” เราเชื่อว่านโยบายปราบโกงที่พรรคไทยภักดีมีบทสรุปคือเป็นนโยบายที่มีมาตราการไม่ใช่จะบอกว่ามีการปราบปรามเฉยๆ แต่มีมาตราการ ขณะที่แนวคิด พรุ่งนี้รวย คือมีพื้นฐานมาจากปัญหาเรื่องปัญหาโลกร้อน ปัญหาสังคม ตัวคาร์บอน การต่อต้านฟอสซิล ครั้งนี้น่าจะเป็นการคิดนวัตกรรมครั้งใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้แถลงผ่านสื่อ แต่เพียงมามอบให้กับพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นทีมวิศวกรคนไทย ที่สามารถแปลงพืชพลังงาน เป็นพลังงานได้ทุกตัวคำว่าพลังงานได้ทุกตัวคือต้องใช้ไฟฟ้า แอลเอ็นจี ,ซีเอ็นจี ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ขณะนี้ ผมดูทิศทางของกระทรวงพลังงาน เข้าไปในทิศทางของโซล่าฟาร์มหรือทิศทางของวินด์ เอนเนอร์ยี่ แต่พวกนี้มันแค่ไฟฟ้าวันละแค่ 4-5 ชั่วโมง แต่ภายใต้นโยบายเกษตรพลังงานเพื่อแปลงผลผลิตทางการเกษตร เป็นการเปลี่ยนแปลงให้ได้พลังงานทุกตัว เท่ากับสามารถสร้างหลักประกัน สร้างกำไรให้กับเกษตรเป็นครั้งแรก ที่เราจะให้เกษตรกรมีกำไรต่อไร่ อย่างน้อย 10,000 – 14,000 บาทต่อไร่ต่อปี เท่ากับว่า พรรคประกาศนโยบายปลดหนี้เกษตรกรได้ภายใต้ แนวทางเกษตรพลังงานซึ่งนวัตกรรม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจดสิทธิบัตรกับบริษัทลอเฟอร์ของต่างประเทศ”