รีเซต

'บิ๊กป้อม' สั่งเร่งระบายน้ำท่วมค้างทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ขีดเส้นภายใน 22 ธ.ค.นี้

'บิ๊กป้อม' สั่งเร่งระบายน้ำท่วมค้างทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ขีดเส้นภายใน 22 ธ.ค.นี้
มติชน
16 ธันวาคม 2564 ( 12:21 )
30
'บิ๊กป้อม' สั่งเร่งระบายน้ำท่วมค้างทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ขีดเส้นภายใน 22 ธ.ค.นี้

ข่าววันนี้ 16 ธันวาคม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความเป็นห่วงประชาชนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ที่เหลือ จึงได้สั่งการและกำชับให้ กอนช. เร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงลุ่มน้ำชี-มูล ให้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นปี 2564 เพื่อของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน พร้อมทั้งให้ติดตามการจัดสรรน้ำ การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง และการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65 ทั้ง 9 มาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

สำหรับปริมาณน้ำในทุ่งรับน้ำทั้ง 11 แห่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเหลือปริมาณน้ำค้างทุ่งประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยวางแผนที่จะระบายน้ำออกจากทุ่งให้เหลือค้างทุ่งที่ระดับความลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการปลูกข้าวนาปรัง และลดการใช้ปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้ทุ่งรับน้ำทั้ง 11 แห่ง ได้ระบายน้ำออกได้ตามแผนแล้ว 8 แห่ง คือ ทุ่งบางระกำ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง

 

 

ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโพธิ์พระยา เหลือปริมาณน้ำที่จะต้องระบายออกรวมกันประมาณ 73.56 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลังเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยเร่งนำน้ำออกโดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งจะเน้นระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ส่วนทางแม่น้ำท่าจีนจะสูบน้ำออกในช่วงจังหวะน้ำทะเลลดต่ำลงเท่านั้น คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ สามารถกักเก็บน้ำให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ภายในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ อย่างแน่นอน ขณะที่การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว

 

นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของลุ่มน้ำชี-มูล ขณะนี้ยังมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่บ้างในพื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยลุ่มน้ำชีขณะนี้ได้ชะลอการระบายน้ำออกจากเขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม และเขื่อนวังยาง ด้วยการลดบานระบายน้ำเพื่อเริ่มกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้ง เช่นเดียวกับลุ่มน้ำมูลได้ชะลอการระบายน้ำของเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ พร้อมควบคุมการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง คาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกได้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้เช่นเดียวกัน หลังจากนั้นจะเริ่มทำการกักเก็บน้ำในลำน้ำหรือในพื้นที่เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งถัดไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง