รีเซต

เช็กอาการไม่พึงประสงค์หลังใช้ "กัญชา" คาดหลังปลดล็อกป่วยเพิ่ม ค้านใช้เพื่อสันทนาการ

เช็กอาการไม่พึงประสงค์หลังใช้ "กัญชา" คาดหลังปลดล็อกป่วยเพิ่ม ค้านใช้เพื่อสันทนาการ
TNN ช่อง16
13 มิถุนายน 2565 ( 12:13 )
181

หลังจากเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 เป็นวันที่ "กัญชา" ถูกปลดล็อก ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% โดยประชาชนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งเท่านั้น

ในส่วนของกระแสสังคมยังเกิดความเห็นต่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาอย่างเสรี กับกลุ่มที่ยังมีความเห็นแย้งอาจจะมีผู้ที่ติดยาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งกังวลถึงอันตรายของการใช้กัญชาเมื่อไม่ได้มีการควบคุมการใช้อย่างชัดเจน

ล่าสุด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวในวันนี้ (13 มิ.ย.65) ที่กรมการแพทย์ ระบุถึง การใช้ "กัญชา" ทางการแพทย์ เบื้องต้นได้ให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ

โดย "กัญชาทางการแพทย์" ในแผนปัจจุบัน หรือ สารสกัดกัญชาที่มีการนำมาใช้ ได้แก่ ผู้ป่วยภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักรักษาสายยาก โดยเฉพาะในเด็ก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท และในกลุ่มเพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยระยะประคับประคอง 

ส่วนผลการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ พบว่า ได้ผลดีพอสมควร เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ อย่างเช่น โรคสะเก็ดเงิน ข้อมูลในต่างประเทศก็พบว่าแนวโน้มการรักษาดี 

ภาพจากงานแถลงข่าวกรมการแพทย์


ย้ำ "กัญชา" ไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา อายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ควรใช้

อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ จะไม่ใช้การรักษาเป็นทางเลือกแรก แต่จะถูกนำมาใช้ ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น โดยคำแนะนำเบื้องต้นเด็กต่ำกว่า 20 ปีไม่ควรใช้กัญชา และไม่เห็นด้วยในการใช้ทางสันทนาการ

ส่วนอาการปวดหัว นอนไม่หลับ ทางแพทย์แผนปัจจุบันไม่แนะนำใช้สารสกัดกัญชา หรือกัญชา เพราะมีตัวยาอื่นที่สามารถรักษาได้ ยกเว้นการรักษาจำเพาะ อาจจะพิจารณาเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ทางกรมการแพทย์ได้มีการอบรมแพทย์พยาบาลและเภสัชกร ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ และการติดตามเฝ้าระวังอาการผู้ป่วย ต่อจากนี้ กรมการแพทย์ จะต้องเฝ้าระวังตัวเลขผู้ป่วย หลังจากมีการปลดล็อคกัญชา ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่

ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16

"กัญชา" รักษาผู้ป่วยเด็ก เฉพาะกลุ่มโรคลมชักรักษายาก

สำหรับ "การใช้ในเด็ก" ยังคงเป็นการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรักษายาก ส่วนโรคอื่นๆ ยังไม่เห็นด้วยที่จะนำกัญชามาใช้รักษาเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ

เช็กอาการไม่พึงประสงค์หลังใช้ "กัญชา"

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังใช้กัญชา เช่น บางราย คอแห้ง ใจสั่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล 

ส่วนข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าระบบห้องฉุกเฉิน หลังจากใช้กัญชา อาการที่พบหลักๆ คือ อาการทางระบบประสาท และหลอดเลือดหัวใจ โดยตอนนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่มีอาการไม่พึงประสงค์และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันกรมการแพทย์ ได้มีการเผยข้อมูลตัวเลขประชาชนที่ใช้กัญชาและมีอาการไม่พึงประสงค์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2562-2565 เฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 คน 

โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีผลิตภัณฑ์จากกัญชาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ที่พบอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการใช้กัญชาจากการสอบถามผู้ป่วยพบว่ามีการหาซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดิน 

จริงหรือ? เสพกัญชาจะต้องใช้ยาสลบมากกว่าคนทั่วไปเมื่อต้องผ่าตัด

ส่วนกรณีที่มีแพทย์ออกมาให้ความเห็นว่าคนที่เสพกัญชาอาจจะต้องใช้ปริมาณยาสลบที่มากกว่าผู้ป่วยทั่วไปเมื่อต้องผ่าตัด นั้น นพ.มนัส อธิบายว่า ตามหลักทางการแพทย์เป็นที่รู้กันว่า ผู้ป่วยที่เสพยาเสพติด หรือ มีการใช้ยานอนหลับเป็นจำนวนมากนั้น การให้ยาสลบ หรือยาระงับความรู้สึก ก็จะต้องให้ปริมาณยามากกว่าผู้ป่วยปกติ และแพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน เน้นย้ำ ผู้ประกอบการที่นำกัญชามาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม อาหารต่างๆ ขอให้ระมัดระวังการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม

ภาพจาก AFP

แนะวิธีการสูบกัญชา อย่าอัดควันเข้าปอด งดขับรถหรือใช้เครื่องจักรกล เป็นเวลา 6 ชม.

ขณะที่ นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ระบุถึงกรณี การปลูกกัญชาใช้เองที่บ้าน เพื่อดูแลสุขภาพ ควรใช้อย่างพอเหมาะต่อร่างกาย หากไม่เคยใช้มาก่อนให้ใช้ปริมาณน้อยก่อน ซึ่งสารสกัด CBD ควรสูงกว่าTHC 

โดยไม่แนะนำให้สูบ หากสูบแล้ว อย่าอัดควันเข้าปอด แต่หากสูบกัญชาแล้ว ไม่ควรแนำนำขับรถ หรือ เครื่องจักรกล เป็นเวลา 6 ชั่วโมง.

ภาพจาก กรมการแพทย์





ข่าวที่เกี่ยวข้อง