นครชัยบุรินทร์ พัฒนา 90 รพ. เป็น สมาร์ท ฮอสปิทัล เชื่อมแผนจัดการโรคเรื้อรัง
วันนี้ (25 ตุลาคม 2563) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 ได้พัฒนาความเป็นเลิศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ที่มีเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” โดยด้านการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มแม่และเด็ก จัดทำโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน พลัส (PLUS) โดยดูแลสตรีก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด พัฒนาห้องคลอดคุณภาพ ส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงสมวัย ขณะที่กลุ่มวัยทำงาน มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มเสี่ยงได้รับการคัดกรองเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุ ขับเคลื่อนงานด้วยวิสัยทัศน์ “นครชัยบุรินทร์ สุขเพียงพอ ชะลอชรา ชีวายืนยาว” เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขตามแนววิถีใหม่ มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นต้น
พญ.พรรณประภา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้พัฒนาการดำเนินงานกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs Cluster) โดยเชื่อมโยงแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยลดอัตราเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อที่ป้องกันได้ เช่น พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยช่องทางด่วน (Fast Track) ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมภูมิในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ระดับตติยภูมิ พัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System: ECS) ครอบคลุม 4 จังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้รับการรักษาทันเวลา พัฒนาระบบเทเลไลน์/เทเลเฮลพ์ (Teleline/Telehelp) เพื่อจัดบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามแนววิถีชีวิตใหม่ พัฒนาระบบข้อมูลเชื่อมโยง ตั้งแต่ รพศ.ถึง รพ.สต. และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ H 9 Help Connect Platform เข้ามาช่วยดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพระบบส่งต่อให้แก่หน่วยบริการ และก้าวสู่การเป็นสมาร์ท ฮอสปิทัล (Smart Hospital)
“ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 9 “นครชัยบุรินทร์” ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ดูแลประชากรในพื้นที่กว่า 6.7 ล้านคน มีโรงพยาบาลทุกระดับ 90 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ 3 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ 2 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 5 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 80 แห่ง มีหน่วยบริการปฐมภูมิ 969 แห่ง เป็น รพ.สต. 953 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพชุมชน 16 แห่ง และศูนย์วิชาการสาธารณสุข 5 แห่ง มีบุคลากรด้านสาธารณสุขรวม 38,118 คน ได้แก่ แพทย์ 2,122 คน ทันตแพทย์ 552 คน เภสัชกร 916 คน พยาบาล 11,372 คน และสาขาวิชาชีพอื่นๆ รวม 7,751 คน” โฆษก สธ. กล่าว