รีเซต

ดีเดย์! 1พ.ย.บัตรทองเขต กทม.รักษาได้ทุกที่ในกรุงเทพฯ-นครชัยบุรินทร์งดใช้ใบส่งตัว

ดีเดย์! 1พ.ย.บัตรทองเขต กทม.รักษาได้ทุกที่ในกรุงเทพฯ-นครชัยบุรินทร์งดใช้ใบส่งตัว
มติชน
27 ตุลาคม 2563 ( 14:34 )
352
ดีเดย์! 1พ.ย.บัตรทองเขต กทม.รักษาได้ทุกที่ในกรุงเทพฯ-นครชัยบุรินทร์งดใช้ใบส่งตัว

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงข่าวสร้างความเข้าใจนโยบาย 4 ด้านสำคัญ ภายใต้นโยบายยกระดับการให้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ 3 ประการ คือ 1.ความแออัด 2.ภาระงานของผู้ให้บริการ และ 3.บัตรทองถูกมองว่าเป็นระบบอนาถา

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ด้านที่ 1 สิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รักษาที่ใดก็ได้ จากเดิมที่ต้องลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิประจำที่จะมีโรงพยาบาล (รพ.) รับส่งต่อ เพียง 1 แห่ง ซึ่งไม่สะดวกต่อการรับบริการของผู้ป่วย จึงมีการปรับปรุงระบบใหม่ด้วยการจัดโซนพื้นที่ กทม. 50 เขต ออกเป็น 6 โซน

 

“การเข้ารับบริการนั้น ผู้มีสิทธิบัตรทองในแต่ละโซนสามารถเข้ารับบริการในหน่วยใดก็ได้ที่เป็น “เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” ในโซนของตนเองเท่านั้น หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ขณะนี้แบ่งออกเป็น 1.หน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่น รวม 63 แห่ง ที่ประกอบด้วย คลินิกเวชกรรมและคลินิกเชี่ยวชาญ 2.หน่วยบริการร่วมในปฐมภูมิ เป็นคลินิกเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น 50 แห่ง ทั้งหมดนี้คาดว่าก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จะมีหน่วยบริการมาขึ้นทะเบียนเพิ่มมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการในโซนของตนเองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และระบบพร้อมให้บริการในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป โดย สปสช.จะแจ้งรายชื่อหน่วยบริการทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบในวันนั้นด้วย” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวและว่า ประชาชนสามารถสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 หรือแอพพลิเคชั่น “ก้าวใหม่ สปสช.” ได้ว่า มีคลินิกใดบ้างที่เข้าร่วม และสามารถรักษาที่จุดไหนเพื่อความมั่นใจ

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ด้านที่ 2 ย้ายสิทธิบัตรทอง และสามารถใช้บริการได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เดิมประชาชนจะมีสิทธิในหน่วยบริการปฐมภูมิประจำ 1 แห่ง เมื่อย้ายที่อยู่ไปพื้นที่อื่น จะทำเรื่องย้ายสิทธิบัตรทองจะต้องใช้เวลา 15 วัน ในการดำเนินการด้านข้อมูลในระบบ ทำให้บางครั้งประชาชนจะต้องไปรับใบส่งต่อ หรือต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งไม่สะดวกต่อการรับบริการ สปสช.จึงปรับปรุงระบบข้อมูลให้สามารถย้ายสิทธิและระบบสามารถใช้ในหน่วยบริการใหม่ได้ทันที โดยประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา โดยระบบพร้อมให้บริการในวันที่ 1 มกราคม 2564

 

ด้าน นพ.สุระ กล่าวว่า ด้านที่ 3 ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในหน่วยบริการพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ละสุรินทร์ ที่มีประชากรรวม 7.5 ล้านคน โดยจะเริ่มในผู้ป่วยในที่ต้องนอน รพ. เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน สามารถเข้ารักษา นอนใน รพ. ข้ามจังหวัดได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปเอาใบส่งตัวหรือประวัติการรักษา และไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย เนื่องจาก สปสช.จะมีระบบออนไลน์ในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างคลินิกกับ รพ. ในพื้นที่ซึ่งแพทย์สามารถทำการรักษาต่อได้ทันที โดยระบบพร้อมให้บริการในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และหากได้รับผลตอบรับได้ก็จะมีการขยายไปยังเขตสุขภาพอื่นๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ด้านที่ 4 ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่งตรงถึง รพ.เฉพาะด้านที่ไม่แออัด การรักษาโรคมะเร็งจะเป็นการรักษาใน รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ซึ่งในบางพื้นที่อาจจะไม่พร้อมให้การรักษา แต่มี รพ.ในพื้นที่อื่นพร้อมให้การรักษา

 

“การปรับปรุงการให้บริการครั้งนี้ จะใช้ระบบเดอะวัน (The One Platform) ร่วมกับระบบลงทะเบียนมะเร็งทั่วประเทศ ที่ทำให้ศูนย์ข้อมูลมองเห็นภาพรวมของทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เช่น เคมีบำบัด เครื่องฉายแสง ฯลฯ ว่ามี รพ.ใดที่ยังว่าง และสามารถดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาไปที่นั่น โดยที่ประชาชนไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย และมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานตามข้อกำหนดในแนวทางการรักษาผู้ป่วย โดยมีสถาบันมะเร็งเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพการรักษา ทั้งนี้ระบบจะพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2564” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

ขณะที่ นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต แบ่งเป็น 6 โซน ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่สามารถรับบริการสาธารณสุขได้รวม 136 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โรงพยาบาลรัฐ 31 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 10 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 26 แห่ง ทั้งหมดจะให้บริการเป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิ มีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย และให้บริการร่วมกับหน่วยบริการร่วมต่างๆ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง