รีเซต

ไวรัสโคโรนา : โออีซีดีชี้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาไปหลายปี

ไวรัสโคโรนา : โออีซีดีชี้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาไปหลายปี
บีบีซี ไทย
24 มีนาคม 2563 ( 00:34 )
54
ไวรัสโคโรนา : โออีซีดีชี้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาไปหลายปี
Getty Images

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development--OECD) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกจะใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

นายอังเกล กูร์เรีย เลขาธิการโออีซีดี กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในครั้งนี้ มีความรุนแรงมากกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 12 ปี ก่อน

เขากล่าวกับบีบีซีว่า ความหวังที่ว่าการฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว "ไมน่าจะเกิดขึ้นได้"

โออีซีดี เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ยกเลิกกฎเกณฑ์ด้านการใช้จ่าย เพื่อที่จะทำให้การตรวจและการรักษาอาการติดเชื้อไวรัสทำได้ง่ายขึ้น

Getty Images

นายกูร์เรียกล่าวว่า คำเตือนเมื่อไม่นานนี้ที่ระบุว่า การระบาดที่รุนแรงอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงครึ่งหนึ่งลงมาอยู่ที่ 1.5% นั้น เป็นคำเตือนที่อาจจะมองในแง่ดีเกินไปแล้วในขณะนี้

ขณะที่การเลิกจ้างงาน และการปิดตัวของบริษัทต่าง ๆ ยังไม่มีความแน่นอน นายกูร์เรีย กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ จะต้องรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ "ในอีกหลายปีข้างหน้า"

เขากล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดหลายแห่ง จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน

"แม้ว่าจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก แต่ก็จะพบเห็นการไม่เติบโต หรือการเติบโตติดลบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศขนาดใหญ่บางแห่ง ดังนั้น เศรษฐกิจจะไม่เพียงเติบโตต่ำในปีนี้เท่านั้น แต่ยังจะต้องใช้เวลานานขึ้นในการฟื้นตัวในอนาคต" เขากล่าวเพิ่มเติม

Getty Images

ผลกระทบรุนแรง

นายกูร์เรียกล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าช่วงที่เกิดเหตุก่อการร้าย 11 กันยายน 2001 หรือ วิกฤตการเงินในปี 2008 แล้ว

เขากล่าวว่า "เหตุผลก็คือ เราไม่รู้ว่า การแก้ปัญหาการว่างงานจะต้องใช้เงินมากแค่ไหนเพราะเราไม่รู้ว่า มีคนจำนวนมากแค่ไหนที่จะต้องถูกเลิกจ้าง เราไม่รู้ด้วยว่า จะต้องใช้เงินมากเท่าไหร่ในการแก้ปัญหาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายแสนแห่งที่กำลังได้รับผลกระทบ"

รัฐบาลทั่วโลกได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนในการช่วยเหลือคนงานและธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงเกิดการระบาดนี้

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของสหราชอาณาจักร รับปากว่า จะจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

นายกูร์เรียเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ยกเลิกกฎเกณฑ์การกู้ยืมต่าง ๆ และ "ทุ่มเททุกอย่างที่มีลงไป" เพื่อรับมือกับวิกฤตนี้

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า การขาดดุลที่มากขึ้นและหนี้ที่มากขึ้นจะเป็นภาระอย่างหนักในช่วงหลายปีข้างหน้าต่อประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นอยู่แล้ว

Getty Images

ไม่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

นายกูร์เรียกล่าวว่าเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ จากกลุ่มจี 20 เชื่อว่า การฟื้นตัวจะมีลักษณะเป็นตัว V ซึ่งหมายถึงการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จากนั้นก็จะมีการฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

เขากล่าวว่า "ในช่วงนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การมองโลกในแง่ดี"

"ผมไม่เห็นด้วยกับปรากฏการณ์ลักษณะตัว V ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันจะไม่ใช่ตัว V กรณีที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นเหมือนตัว U ซึ่งจุดต่ำสุดยืดยาวออกไป ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดลักษณะตัว L ได้ ถ้าเรามีการตัดสินใจที่ถูกต้องในขณะนี้"

โออีซีดีกำลังเรียกร้องให้ใช้แผนการ 4 ด้าน ในการรับมือกับการระบาด รวมถึง การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การจัดหาอุปกรณ์ที่ดีขึ้นให้กับแพทย์และพยาบาล การจ่ายเงินให้แก่คนงานรวมถึงผู้ทำงานอิสระ และการยกเว้นภาษีแก่ภาคธุรกิจ

นายกูร์เรียเปรียบเทียบกับแผนการมาร์แชลล์ ซึ่งได้ช่วยฟื้นฟูยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง