รีเซต

44 ภาคประชาสังคมร่อนจม.เปิดผนึกประณามเชิญ 'มิน อ่อง ลาย' ประชุมสุดยอดอาเซียน

44 ภาคประชาสังคมร่อนจม.เปิดผนึกประณามเชิญ 'มิน อ่อง ลาย' ประชุมสุดยอดอาเซียน
มติชน
22 เมษายน 2564 ( 22:11 )
65
44 ภาคประชาสังคมร่อนจม.เปิดผนึกประณามเชิญ 'มิน อ่อง ลาย' ประชุมสุดยอดอาเซียน

เมื่อวันที่ 22 เมษายน องค์กรภาคประชาสังคม 44 แห่งร่วมกันเผยแพร่ ‘จดหมายเปิดผนึกจาก 44 ภาคประชาสังคม ถึงผู้นำประเทศอาเซียน’ เนื่องในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 24 เมษายน 2564 ณ กรุงจาการ์ตา

 

 

ความดังนี้

พวกเราในฐานะผู้แทนองค์กรประชาชนพลเมืองของอาเซียนและในภูมิภาคนี้ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ อีกทั้งเครือข่ายภาคีความร่วมมือของภาคประชาสังคม ยินดีกับการริเริ่มของประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ให้มีการจัดประชุมวาระพิเศษสำหรับผู้นำอาเซียน ในวันที่ 24 เมษายน นี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศเมียนมาร์/ พม่า

 

เรายินดีกับข้อเรียกร้องของเลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กุแตร์เรส ให้อาเซียน ” … ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนานาชาติด้วยความพยายามร่วมมือกันในระดับภูมิภาค  และเรียกร้องให้ผู้มีบทบาทเกียวข้องในภูมิภาคได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ และสามารถแสวงหาทางออกอย่างสันติให้หลุดพ้นจากวิบัติภัยครั้งร้ายแรงนี้

 

เราตระหนักดีว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ คุณคริสติน ชราร์แนร์ เยอเกนเอร์ กำลังอยู่ในภูมิภาค และกำลังจะเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำสูงสุดของอาเซียนในวันที่ 24 เมษายน นี้ ณ กรุงจาการ์ตา และได้เรียกร้องให้เธอสามารถเข้าเยือนประเทศเมียนมาร์เพื่อปฏิบัติภารกิจได้

 

เราสนับสนุนคำแถลงล่าสุดของอดีตเลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ และรองประธานคณะผู้อาวุโส บัน คี บูน ที่ระบุว่า “อาเซียนต้องทำให้เกิดความชัดเจนกับทหารเมียนมาร์ ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในปัจจุบันมิอาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นเรื่องกิจการภายในของประเทศเมียนมาร์เอง” และ “อาเซียนต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดความคืบหน้า ให้ไปไกลกว่าเพียงแค่การออกแถลงการณ์เท่านั้น”

 

 

เรายินดีกับถ้อยแถลงของรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ที่ต่างเรียกร้องให้ทหารเมียนมาร์ยุติการปราบปรามพลเรือนที่ปราศจากอาวุธด้วยความรุนแรงโดยทันที พลเรือนเหล่านั้นยังรวมทั้งเด็กน้อยอีกด้วย  นอกจากนี้รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ยังเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางการเมือง ซึ่งเป็นสมาชิกพรรค NLD ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ รวมทั้งประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วน อีกทั้ง ผู้สื่อข่าว สื่อมวลชน ศิลปิน บุคลากรด้านสุขภาพ ลูกจ้าง พนักงาน ข้าราชการ ทั้งชาย หญิง และเด็ก ทั่วทั้งประเทศ

 

เราขอประณามและไม่ยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนที่เชื้อเชิญกลุ่มก๊วนทหารเมียนมาร์ที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจนำโดย นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลายให้เข้าร่วมการประชุมผู้นำสูงสุดของอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เราเห็นว่านี่เป็นการละเมิดต่อหลักการแห่งกฎบัตรอาเซียนอย่างชัดแจ้ง ในเรื่อง “การไม่แทรกแซง”  และยังเป็นการมอบความชอบธรรมในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศและประชาชนอาเซียน ให้กับอาชญากรสงคราม ผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยระบอบทหารที่กระทำต่อประชาชนพลเมืองของเขาเอง

 

เราเชื่อว่า นับแต่การที่พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 2540 นั้น ถือเป็นจุดอ่อนอย่างมากขององค์กรประชาคม ดังนั้นวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังแผ่กระจายข้ามพรมแดน จะก่อผลสืบเนื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและประชาชนในทุกประเทศของอาเซียน และที่อื่นใด  สิ่งที่น่าตระหนกกว่าก็คือความจริงที่ว่านับแต่การรัฐประหารของคณะทหารเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เมียนมาร์กำลังดำดิ่งสู่การเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” (Failed State) ในอาเซียนและภูมิภาคนี้

 

เรามิอาจยอมรับได้เลยว่า รัฐบาลบางประเทศของอาเซียนยังใช้เรื่องโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้างในการนิ่งเฉย เฉื่อยเนือย หรือแม้กระทั้งกำหนดข้อห้ามเพื่อให้การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้พลัดถิ่น ผู้หนีภัยจากสงครามและความรุนแรงนับพันคนตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ กำลังรอรับความช่วยเหลือจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ของไทย และองค์กรระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมอื่นๆ อยู่

 

เราเชื่อมั่นว่า สถานการณ์เมียนมาร์วันนี้ เป็นบททดสอบครั้งสำคัญของอาเซียนว่าจะยังคงความน่าเชื่อถือ และมีความเหมาะสม สอดคล้องกับการดำรงสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐภาคีในภูมิภาคนี้ ในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศเพียงใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก – เรา – ประชาชนพลเมืองแห่งภูมิภาคอาเซียนนี้

 

 

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้

1.อาเซียน เชิญผู้แทนจากรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (NUG)  ซึ่งก่อเกิดขึ้นจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเมียนมาร์โดยถูกต้องชอบธรรม ผู้นำอาเซียนไม่มีหนทางอื่นใดในการบรรลุผลสำเร็จในการประชุมสุดยอดผู้นำในคราวนี้ เพื่อแก่ไขวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยมิได้ปรึกษาหารือกับผู้แทนรัฐบาลที่มีความชอบธรรม ซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยจากประชาชนชาวเมียนมาร์

 

2.อาเซียนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนโดยทันที ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขัง และหยุดยั้งการเข่นฆ่าตามอำเภอใจ ทั้งต่อประชาชนชาวเมียนมาร์และชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในเมียนมาร์

 

3.อาเซียนเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักโทษและผู้ต้องขังทางการเมืองโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข – รวมถึงผู้นำที่ชอบธรรมของพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ (พรรค NLD) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกจำนวนหนึ่งด้วย

 

4.อาเซียน – ภายใต้การนำของไทย เปิด “ระเบียงมนุษยธรรม” ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ เพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรด้านมนุษยธรรมของไทย และองค์การระหว่างประเทศ เช่น กาชาดสากล ฯลฯ และหน่วยงานของสหประชาชาติ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินเร่งด่วน ให้แก่ผู้พลัดถิ่นนับพันนับหมื่นคน ซึ่งแสวงหาที่พักพิงในที่ปลอดภัยตามเขตป่าเขาลำเนาไพรบริเวณลำน้ำสาละวินที่ทอดยาวตามแนวชายแดน  นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติการณ์แต่อย่างใด – เมื่อปี 2551 ผู้นำอาเซียนได้เคยจัดตั้ง “คณะทำงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาร์” เพื่อรองรับภารกิจในสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนากิส และอีกครั้งระหว่างวิกฤตการณ์โรฮิงยา – หากนี่เป็นสิ่งที่ผู้นำอาเซียนสามารถดำเนินการได้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และวิกฤตผู้ลี้ภัยแล้ว เหตุไฉนจะดำเนินการไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน  และนี่ย่อมจะไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกล่าวอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้ในสถานการณ์ที่ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมาร์อย่างรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ

 

5.อาเซียนต้องกระชับความร่วมมือในการเจรจาหารือกับคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ (UNSC) – ภายใต้การนำของเวียดนาม (ประธานคนปัจจุบันของคณะมนตรีความมั่นคง ได้แก่ประเทศเวียดนาม) ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ทั้งนี้โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อื่นๆ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (UNHCR)เป็นต้น

 

6.อาเซียน ไม่ควรใช้ หลัก “การไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ตามกฎบัตรอาเซียนมาเป็นข้ออ้างในการยื้อเวลา หรือเบี่ยงเบนไปจากเจตจำนงเพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ดังที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน

 

7.ประเทศไทย พึงแสวงหาความช่วยเหลือจากอาเซียนในการประกาศ “เขตห้ามบิน” (NO FLY ZONE) ตลอดภูมิภาคที่เป็นแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

 

8.สำหรับประเทศอาเซียนที่ทำธุรกิจ การค้า ข้อตกลงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า กับเมียนมาร์ พีงต้องระงับความร่วมมือทางธุรกิจในทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่ถูกควบคุมหรือเป็นทรัพย์สินของระบอบทหารและบริวารของเขา (เช่น Myanmar Economic Holdings Public Co. Ltd – MEHL; Myanmar Economic Cooperation Limited – MEC เป็นต้น)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีสิงคโปร์ที่มีการลงทุนในเมียนมาร์มูลค่ากว่า 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะต้องมีมาตรการดำเนินการที่ชัดแจ้งเป็นรูปธรรมว่าจะตอบสนองต่อความจำเป็นเพื่อยุติโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ให้ได้อย่างไร การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจธุรกรรมของทหารเมียนมาร์เป็นรายบุคคลนั้นยังไม่ดีพอ –  ต้องเพิ่มแรงกดดัน โดยการ “แช่แข็ง” หรือ “อายัด” ทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงบัญชีเงินฝากธนาคารของนายทหารเหล่านั้นในธนาคารต่างประเทศ รวมทั้งบรรษัทในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ก็จะส่งสัญญาณที่มีพลังมากยิ่งขึ้น

 

 

เรา – ประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน – ใคร่ขอเตือนให้ผู้นำของเราได้ตระหนักถึงข้อเรียกร้องนี้ และดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยทันทีในช่วงการประชุมผู้นำในวันที่ 24 เมษายน ศกนี้ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า สิ่งที่เรียกขานกันว่า “วิถีอาเซียน” ที่เฉิดฉายอยู่ในกฎบัตรอาเซียนนั้นจะสมจริง และจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ประชาชนทั่วทั้งสิบประเทศสมาชิกนั้น ดำรงอยู่จริง

 

ด้วยความนับถือ

กษิต ภิรมย์

กลุ่มทำทาง

กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

คณะกรรมการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)

เครือข่ายบ้านฉุ่มเมืองเย็น

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

เครือข่ายเอเซียเพื่อการเลือกตั้งเสรี

พันธมิตรเพื่อความสมานฉันท์และเสรีภาพของประชาชนพม่า

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

มูลนิธิชุมชนไทย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มูลนิธิผู้หญิง

มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

มูลนิธิพัฒนาอีสาน

มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า

มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม

มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองพื้นที่สูง

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม

สถาบันปรีดี พนมยงค์

สถาบันสังคมประชาธิปไตย

สภาพัฒนาวัฒนธรรมแห่งเอเซีย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา สงขลา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

สมัชชาองค์กรเอกชนดานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

Asia Centre

SHAPE SEA

The Mekong Butterfly

22 เมษายน 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง