รีเซต

สี จิ้นผิง สู่รัฐบุรุษจีนเบอร์สาม เทียบเท่าเหมา เจ๋อตุงและเติ้ง เสี่ยวผิง

สี จิ้นผิง สู่รัฐบุรุษจีนเบอร์สาม เทียบเท่าเหมา เจ๋อตุงและเติ้ง เสี่ยวผิง
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2564 ( 15:52 )
181

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการกลางเต็มคณะครั้งที่ 6 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วัน ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา โดยมีการผ่าน "มติครั้งประวัติศาสตร์ครั้งที่ 3" ที่จะยกระดับสถานะของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ให้เทียบเท่ากับ "เหมา เจ๋อตุง" หรือประธานเหมา ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และ "เติ้ง เสี่ยวผิง" ผู้ปฏิรูปจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก


และจะถือเป็นการล้มธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ประธานาธิบดีจีนสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงสองเทอมรวมระยะเวลา 10 ปี


การประกาศมตินี้ เป็นการเปิดทางสู่การครองอำนาจในสมัยที่ 3 ต่อของปธน.สี ที่เตรียมจะครบการดำรงวาระเทอมที่ 2 ในปีหน้า


สำหรับแถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เผยแพร่ออกมา ผู้สื่อข่าวจีนยังรายงานด้วยว่า ชื่อของปธน.สี ถูกกล่าวถึง 14 ครั้ง เมื่อเทียบกับประธานเหมา 7 ครั้ง เติ้ง 5 ครั้ง ส่วนเจียง และ หู ได้รับการพูดถึงชื่อเพียงคนละ 1 ครั้งเท่านั้น


◾◾◾

🔴 มติครั้งประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์


แถลงการณ์รับรองมติฉบับนี้จัดทำขึ้นเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์ 100 ปีของพรรคคอมนิวนิสต์จีน ซึ่งมีเนื้อหาสาระในการสรุปความท้าทายและความสำเร็จของพรรคตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนความสำเร็จและความก้าวหน้าภายใต้การนำของปธน.สี นับตั้งแต่ที่เขาขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2012


ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการต่อฮ่องกงอย่างเคร่งครัด หลังการประท้วงใหญ่เมื่อปี 2019 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องจัดการ เทียบเท่ากับสงครามต่อต้านการคอร์รัปชั่น และปัญหามลพิษของประเทศ


"สี จิ้นผิง มีชุดความคิดที่ลึกซึ้ง และมีการประเมินทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทฤษฎีสำคัญ ๆ และนำไปปฏิบัติต่อ และยกประเด็นเหล่นั้นมาวางกลยุทธ์ในการปกครองประเทศ”


“สี จิ้นผิง นับเป็นบุคคลสำคัญ ในการสร้างลักษณะเฉพาะของสังคมนิยมจีนในยุคสมัยใหม่" แถลงการณ์ระบุ


การรับรองมติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ เป็นการรับรองมติครั้งที่ 3 เท่านั้นในประวัติศาสตร์ของพรรค โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ มีขึ้นในยุค "เหมา" ในปี 1945 และ "เติ้ง" ในปี 1981


แต่ทั้ง 2 ครั้งนั้น เป็นการผ่านมติครั้งประวัติศาสตร์ "ในการตัดขาดจากอดีต"


◾◾◾

🔴 มติประวัติศาสตร์ 3 ครั้งของพรรค


มติครั้งแรก ซึ่งผ่านการอนุมัติในการประชุมเต็มคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อปี 1945 ช่วยให้เหมา รวบอำนาจเข้าไว้กับตัวเอง เพื่อให้มีอำนาจเต็มในการประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949


ส่วนมติครั้งที่ 2 มีขึ้นตอนที่ เติ้ง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในปี 1978 เขาได้เสนอมติครั้งที่ 2 ในปี 1981 ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ "ความผิดพลาด" ของประธานเหมา ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966-1976 ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายล้านคน นายเติ้งยังได้วางรากฐานการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนด้วย


มติของประธานาธิบดีสียังมีขึ้นในยุคที่จีนได้ก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการได้เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน และยากที่จะปฏิเสธว่า จีนยืนอยู่ในจุดเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการได้รับการยอมรับสถานะในฐานะชาติมหาอำนาจของโลก โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และบรรดาผู้นำต่างอยู่ในอำนาจโดยที่ไม่มีฝ่ายค้านในประเทศ


◾◾◾

🔴 จีนกลับสู่ "ลัทธิบูชาบุคคล"?


ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความเห็นว่า การออกมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ นับเป็นความพยายามของปธน.สี ที่จะลบล้างความพยายามในการกระจายอำนาจของเหล่าผู้นำจีนในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นในยุคของ "เติ้ง เสี่ยงผิง" และดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ ทั้งในยุคของ "เจียง เจ๋อหมิน" และ "หู จิ่น เทา" ซึ่งดูแล้ว คล้ายเป็นสัญญาณว่าจีนกำลังจะกลับสู่การปกครองแบบ "ลัทธิบูชาบุคคล" (cult of personality) ซึ่งจะทำให้ปธน.สี กุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น


นี่เป็นการประชุมกันครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 19 ก่อนจะถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในปีหน้า ซึ่งคาดว่านายสีจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 คนแรกของจีน หลังจากเมื่อปี 2018 แดนมังกรยกเลิกห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 สมัย ปูทางให้สี จิ้นผิง ครองอำนาจไปตลอดชีวิต


อดัม หนี่ บรรณาธิการ ไชน่า เน่ยชาน ระบุว่า สี พยายามสร้างตัวเองให้เป็นวีรบุรุษในเส้นทางของประเทศ ซึ่งการผลักดันมติครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งมีนายสีเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวในยุคปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์และของประเทศจีนนั้น คือการแสดงอำนาจของนายสี แต่ขณะเดียวกันเอกสารฉบับนี้ก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เขาได้กุมอำนาจต่อไป


เจมส์ ชาร์ จาก S. Rajaratnam School of International Studies ระบุว่า เขาไม่ตกใจกับมติของพรรคในการวาดเขียนเรื่องราวให้ "สี จิ้นผิง" เป็นผู้สืบทอดและหัวหน้าผู้ปฏิวัติพรรคคอมมิวนิตส์ด้วยการสร้างจีนให้แข็งแกร่งขึ้น หลังจากที่ เหมา และเติ้ง ได้ช่วยให้จีนยืนหยัดและร่ำรวย


สิ่งที่ชัดเจนในแถลงการณ์คือ 'สี' กำลังสร้างตัวเขาเองให้เป็น 'ราชาแห่งปราชญ์' (philosopher king)

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Nicolas ASFOURI / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง