เช็กที่นี่! เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ใช้จ่ายอะไรได้บ้าง และรับเงินช่องทางไหน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ กระทรวงศึกษาธิการ กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 ดังนี้
-สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน สำหรับ นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6, ระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
-จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้
-ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63
สำหรับเงินเยียวที่ได้รับ สามารถใช้จ่ายได้ดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมการเรียน
2. ค่าบำรุงการศึกษา
3. ค่าอินเทอร์เน็ต
4. ค่าไฟฟ้า
***สำหรับ โครงการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของ ศธ.ที่ ครม.อนุมัติครั้งนี้ ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจะมีการจ่ายผ่านสถานศึกษา และสถานศึกษาจ่ายตรงให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคารจำนวน 11 ล้านคน วงเงิน 21,600 ล้านบาท
2. มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
- สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 / 50,001 - 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50
-สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน