โลกจับตา “แลมบ์ดา” ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ อันตรายกว่าเดลตาจริงหรือ
บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลกกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า "แลมบ์ดา" (Lambda) หรือสายพันธุ์ C.37 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดหนักในภูมิภาคอเมริกาใต้ โดยการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนและมีลักษณะพิเศษของมัน ทำให้น่าหวั่นเกรงว่าอาจเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่สามารถเกิดการระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงเกินคาด
ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาแล้วในอย่างน้อย 29 ประเทศทั่วโลก โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ค. กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดนี้เป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตาเสียอีก
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า แถลงการณ์ข้างต้นมีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ทั้งยังไม่อาจทราบได้ว่า ต่อจากนี้สายพันธุ์แลมบ์ดาจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกอย่างไรกันแน่ ในขณะที่มีผลวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดยืนยันว่า วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) และค็อกเทลแอนติบอดีบางชนิด สามารถต้านทานเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาได้
สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงกำหนดให้สายพันธุ์แลมบ์ดาเป็น Variant of Interest (VOI) หรือไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจเฝ้าระวังไว้ก่อน ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตาที่มีสถานะเป็น Variant of Concern (VOC) หรือไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงและวิตกกังวลไปเสียแล้ว
อันที่จริงสถานะสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าจับตามองหรือ VOI ของแลมบ์ดา หมายความว่ามีการปรากฏตัวของไวรัสกลายพันธุ์นี้ขึ้นในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งมีลักษณะการกลายพันธุ์ที่ส่อแววว่าอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดในอนาคตเท่านั้น
มีการตรวจพบสายพันธุ์แลมบ์ดาครั้งแรกที่ประเทศเปรูเมื่อเดือนสิงหาคมของปีก่อน โดยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้สูงถึง 81% ของผู้ป่วยโควิดในเปรู และพบมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดในประเทศชิลี รวมทั้งพบผู้ติดเชื้อเกือบร้อยรายในประเทศเม็กซิโกและอาร์เจนตินาอีกด้วย แต่เปรูนั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ที่สหรัฐฯ กว่า 600 ราย และที่สหราชอาณาจักรอีก 7 ราย โดยคาดว่าส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
ไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดานั้นมียีนกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนในหลายตำแหน่ง โดยพบการกลายพันธุ์ถึง 7 จุดบนโปรตีนที่เป็นส่วนหนามของไวรัส เมื่อนำไปเทียบกับพันธุกรรมของไวรัสโควิดดั้งเดิมซึ่งพบครั้งแรกที่นครอู่ฮั่นของจีน
การกลายพันธุ์บางลักษณะที่พบในสายพันธุ์แลมบ์ดานี้ มีศักยภาพสูงที่จะทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมทั้งสามารถลดทอนประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัวที่ใช้เพื่อยับยั้งไวรัสได้อีกด้วย
ตัวอย่างเช่นการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า F490S ซึ่งอยู่บนพื้นที่จับกับตัวรับ (RBD) ของหนามไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่อาจจะทำให้ไวรัสรอดพ้นจากวัคซีนไปได้ โดยจะทำให้แอนติบอดีที่วัคซีนสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพต่ำลง ไม่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันจดจำและเข้าทำลายไวรัสกลายพันธุ์ได้
วัคซีน mRNA รับมือได้
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) แถลงยืนยันว่า "ปัจจุบันยังคงไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้แน่ชัดว่า ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงกว่าปกติ หรือทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพลดลง"
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาว่าด้วยไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ bioXiv โดยระบุว่าสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีน สูงกว่าไวรัส SARS-CoV-2 แบบดั้งเดิม 3.3 เท่า
ทีมผู้วิจัยระบุว่าแม้ไวรัสกลายพันธุ์แลมบ์ดาจะทำให้แอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำลง แต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA ซึ่งได้แก่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นากับไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดา ผลปรากฏว่าไวรัสมีความสามารถต้านทานแอนติบอดีจากวัคซีนต่ำลงกว่าเดิม โดยอยู่ในเกณฑ์ที่วัคซีน mRNA ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป จะสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้
นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังทดสอบพบว่า ค็อกเทลแอนติบอดีซึ่งเป็นยาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของบริษัทรีเจเนรอน (Regeneron) มีประสิทธิภาพดีในการต้านทานและทำให้ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาหมดฤทธิ์ได้อีกด้วย