รีเซต

เครื่องจับเท็จไฮเทคทำงานอย่างไร กฎหมายแต่ละประเทศรองรับมากแค่ไหน

เครื่องจับเท็จไฮเทคทำงานอย่างไร กฎหมายแต่ละประเทศรองรับมากแค่ไหน
ข่าวสด
2 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:47 )
80
เครื่องจับเท็จไฮเทคทำงานอย่างไร กฎหมายแต่ละประเทศรองรับมากแค่ไหน

"ขยับตาหน่อยค่ะ กะพริบตา ยิ้ม คราวนี้ก็พยายามผ่อนคลาย" เธอกล่าว "อีกครู่เดียว เราก็จะรู้แล้วว่า คุณเป็นคนโกหกเก่งหรือเปล่า"

ที่มาของภาพ, Tomer Neuberg

ศ.ฮานีนและศ.ดีโน เลวี เพื่อนร่วมงาน เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาวิธีการตรวจจับการโกหกแบบใหม่ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟของอิสราเอล

 

พวกเขาบอกว่า พวกเขาระบุตัวคนโกหกได้สองแบบคือ คนที่มีการขยับคิ้วโดยอัตโนมัติเมื่อพูดเรื่องโกหก และคนที่ไม่สามารถควบคุมการขยับมุมปากได้เล็กน้อย

 

ขณะนี้ซอฟต์แวร์ของพวกเขาและอัลกอริทึมของมันสามารถตรวจจับการโกหกได้ 73% และพวกเขาตั้งใจที่จะปรับปรุงตัวเลขให้ดีขึ้น โดยกำลังมีการพัฒนาระบบนี้อยู่ "เมื่อคุณลองปกปิดการโกหก หนึ่งอย่างที่คุณพยายามเลี่ยงคือ ปฏิกิริยาทางร่างกายทุกประเภท" เธอกล่าว

 

ศ.เลวี กล่าวเพิ่มเติมว่า "แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้คุณปกปิดการโกหกได้ยากมาก ๆ"

 

วิธีการจับโกหกหลายวิธีน่าจะเคยถูกนำมาใช้งานมาแล้ว ตราบใดที่ผู้คนยังคงเล่าเรื่องโกหกอยู่ หนึ่งในตัวอย่างที่มีหลักฐานชิ้นแรกมาจากช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาลในจีน ซึ่งผู้ต้องสงสัยต้องอมเมล็ดข้าวไว้ในปาก

 

เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ก็จะมีการตรวจดูว่า ถ้าข้าวยังแห้งอยู่ แสดงว่าผู้นั้นโกหก ทฤษฎีนี้เชื่อว่าเมื่อคนโกหก เขาหรือเธอจะหวาดกลัวและประหม่า ส่งผลให้ปากแห้ง

 

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการประดิษฐ์เครื่องจักรตรวจจับการโกหกเครื่องแรกขึ้น หรือที่เรียกว่า เครื่องจับเท็จ โดยเครื่องจับเท็จที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ "เครื่องจับเท็จแอนะล็อก" ซึ่งจะมีเข็มบรรจุหมึก 3-4 เข็ม ขีดเส้นลงบนกระดาษแผ่นยาวที่ขยับไปมา

 

มีการติดอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณไว้ที่นิ้วมือ แขน และลำตัวของผู้ต้องสงสัย จากนั้นเครื่องจะวัดอัตราการหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต และเหงื่อ ขณะที่พวกเขาตอบชุดคำถาม

 

แต่ก็ยังคงมีความกังวลเกิดขึ้นต่อไปเกี่ยวกับความแม่นยำของเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ และเป็นไปได้ไหมที่จะหลอกเครื่องจับเท็จ ดังนั้นนักวิจัยและบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งทั่วโลกจึงกำลังพัฒนาระบบจับเท็จไฮเทคกว่านี้ขึ้นมาก

 

ที่มหาวิทยาลัยอีราสมุส (Erasmus University) ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดร.เซบาสเตียน สเปียร์ และทีมงานของเขา กำลังใช้การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging—MRI) ในการดูว่า คนกำลังโกหกหรือหลอกลวงอยู่หรือเปล่า ด้วยการดูการเปลี่ยนแปลงของสีในการสแกนสมองที่มีการตอบสนองต่อคำถามต่าง ๆ

 

"เราเห็นหลายพื้นที่ [ต่าง ๆ กันของสมอง] ที่ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เวลาที่คนตัดสินใจที่จะโกหกหรือพูดความจริง" ดร.สเปียร์กล่าว

 

ระบบตรวจจับการโกหกไฮเทคที่ถูกใช้งานอยู่ระบบหนึ่งคือ EyeDetect ของบริษัท Converus ตั้งอยู่ในรัฐยูทาห์ โดยระบบนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวของลูกตาโดยอัตโนมัติเพื่อตรวจจับการโกหก

 

โดยจะมีการถามคำถามให้คนเลือกตอบว่า จริงหรือเท็จ ใช่หรือไม่ใช่ จำนวนหนึ่ง ขณะที่พวกเขาตอบคำถาม ซอฟต์แวร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกตาจะคอยเฝ้ามองและศึกษาการตอบสนองของพวกเขา จากนั้นจะทราบผลภายในเวลา 5 นาที และทางบริษัทอ้างว่า มีความแม่นยำสูงถึง 86-88%

 

Converus (ซึ่งเป็นคำในภาษาละติน แปลว่า "ด้วยความจริง") ระบุว่า ปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 600 รายใน 50 ประเทศใช้งาน EyeDetect รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐฯ มากกว่า 65 แห่ง และอีกเกือบ 100 แห่งทั่วโลก

 

ทอดด์ มิกเคิลเซน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ทางการและบริษัทต่าง ๆ กำลังใช้ประโยชน์จากการทดสอบนี้ในการคัดกรองหาสิ่งต่าง ๆ "อาจรวมถึงอาชญากรรมในอดีต การใช้ยาเสพติดในอดีตและปัจจุบัน การกระทำผิดวินัยต่าง ๆ ที่ไม่มีการรายงาน การโกหกในการสมัครงาน การเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย"

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่สอบสวนของตำรวจสามารถใช้ EyeDetect ในการถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอาชญากรรมได้

 

แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องย้ำว่า การใช้อุปกรณ์จับเท็จในทางกฎหมายมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

 

ในสหราชอาณาจักร สำนักงานคุมประพฤติใช้เครื่องจับเท็จ "ในการบริหารจัดการผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศ" ตั้งแต่ปี 2014 และขณะนี้กำลังมีการทดลองใช้งานกับผู้กระทำผิดด้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

แต่ผลของการทดสอบเครื่องจับเท็จไม่สามารถนำไปใช้ในคดีอาญาได้ในระบบกฎหมาย 3 ระบบที่แยกจากกันคือ อังกฤษและเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ

 

ขณะเดียวกัน นายจ้างในสหราชอาณาจักรได้รับอนุญาตให้ใช้การทดสอบตรวจจับการโกหกกับพนักงานได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงานด้วย

 

ในสหรัฐฯ มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อต้องพิจารณากฎหมายของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศร่วมด้วย

 

ยกตัวอย่าง รัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตให้ใช้หลักฐานการทดสอบตรวจจับการโกหกในศาลอาญาระดับรัฐได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ แต่ในรัฐนิวยอร์ก ไม่ได้รับอนุญาตไม่ว่ากรณีใด ๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจของสหรัฐฯ ไม่สามารถกำหนดให้ผู้ต้องสงสัย หรือบุคคลที่ถูกจับกุมตัวเข้ารับการทดสอบได้

 

ขณะที่กฎหมายป้องกันการจับเท็จลูกจ้างในสหรัฐฯ (Federal Employee Polygraph Protection Act) จะสกัด ไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ใช้การทดสอบนี้ในการรับสมัครงาน

 

 

คริสโตเฟอร์ เบอร์เกสส อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ เตือนว่า ไม่ควรมองว่าอุปกรณ์จับเท็จเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของอาชญากรหรือสายลับ

 

"มันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้งานในขั้นตอนการสอบปากคำในการสอบสวน" เขากล่าว "หลักฐานคือวิธีการที่คนโกหก คนพาล คนโกง และพวกกุเรื่อง ถูกจับได้"

 

นายเบอร์เกสส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง กล่าวเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ไม่มีความแม่นยำอย่างสมบูรณ์แบบ และกล่าวว่า ย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ตัวเขาเองเคยตีความผิดพลาดจากผลทดสอบที่ไม่ถูกต้อง

 

ขณะที่กำลังเริ่มมีการใช้งานระบบตรวจจับการโกหกที่ไฮเทค เขากล่าวว่า ยังคงมี "คำถามด้านศีลธรรมและจริยธรรม" อยู่

 

กลับไปที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ นักวิจัยหวังว่า ขั้วไฟฟ้าจะถูกแทนที่ด้วยกล้องวิดีโอและซอฟต์แวร์ที่สามารถตรวจจับการโกหกได้จากระยะไกลหรือแม้แต่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยดูจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้า

 

 

"ในธนาคาร ในการสอบปากคำของตำรวจ ที่สนามบิน หรือในการสัมภาษณ์งานทางออนไลน์ กล้องความคมชัดสูงที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าจะสามารถระบุข้อความที่เป็นจริงได้จากคำโกหกต่าง ๆ" ศ.เลวี ทำนาย

หลังจากที่ฉันถูกสอบปากคำ ฉันถามว่า ฉันผ่านไหมคะ

ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านกล่าวว่า "คุณโกหกไม่เก่งเลย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง