รีเซต

บทนำ : ฟื้นคืน‘อบต.’

บทนำ : ฟื้นคืน‘อบต.’
มติชน
30 พฤศจิกายน 2564 ( 13:00 )
31

กกต.แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.ว่าประชาชนหลั่งไหลไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง จำนวน 62,972 หน่วยเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,617,988 คน เกิดปรากฏการณ์ประชาชนแห่กลับบ้านเพื่อไปใช้สิทธิ โดย กกต.ระบุว่าการเลือกตั้ง อบต.เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนในตำบล ในหมู่บ้าน มีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ห่างจากครั้งก่อนมา 8 ปี เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนแห่กลับบ้าน เพื่อไปเลือกตั้งกระทั่งรถติด นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

 

ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากมีภารกิจ อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้ง หรือเจ็บป่วยจนไปใช้สิทธิไม่ได้ กกต.แนะนำว่าสามารถรักษาสิทธิตนเองโดยการไปแจ้งเหตุของการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ภายใน 7 วันหลังวันเลือกตั้ง โดยวันสุดท้ายของการแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือวันที่ 5 ธ.ค. โดยแจ้งด้วยตนเองที่สำนักทะเบียนอำเภอที่ตัวเองมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือแจ้งผ่านไปรษณีย์ และช่องทางการแจ้งผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์

 

การเลือกตั้ง อบต.เป็นการเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ในระดับพื้นฐานที่สุด กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนปกครองตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตย โดยเลือกนายก อบต.เข้าไปทำหน้าที่บริหาร และเลือกสมาชิกสภา อบต. เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบ การเลือกตั้ง อบต.ชะงักไป 8 ปี หลังรัฐประหาร 2557 โดยอ้างว่ามีการทุจริต มีการสอบสวนผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต.หลายกรณีด้วยกัน

 

ภายหลังขั้นตอนการเลือกตั้ง อบต.ผ่านไป จะเป็นช่วงที่ อบต.จะต้องเริ่มทำงาน ทุกฝ่ายรวมถึงประชาชน จะต้องร่วมกันตรวจสอบการทำงาน ป้องกันการฉวยโอกาสใช้อำนาจ ใช้งบประมาณในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขหรือข้ออ้าง ในการฉกฉวยอำนาจไปจากประชาชน และหาก อบต.มีประสิทธิภาพ มีความสุจริต จะทำให้ท้องถิ่นพัฒนาได้รวดเร็ว แก้ปัญหาท้องถิ่นได้ถูกจุด เพราะไปจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง