ศึกษาพบ 'นิ้วโป้งเทียม' เอื้อแพนด้ายักษ์ 'กินไผ่' ตั้งแต่ 7 ล้านปีก่อน
ปักกิ่ง, 7 ก.ค. (ซินหัว) -- ทีมวิจัยจีนรายงานผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการนิ้วโป้งเทียม (false thumb) ของแพนด้ายักษ์ โดยระบุว่าแพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ที่กินไม้ไผ่โดยเฉพาะตั้งแต่เมื่อกว่า 6 ล้านปีก่อน
การศึกษาฉบับดังกล่าวดำเนินการโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) และสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) และได้รับการเผยแพร่ในวารสารไซเอนทิฟิค รีพอร์ตส (Scientific Reports) เมื่อไม่นานนี้เติ้งเทา ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาฯ หนึ่งในผู้เขียนการศึกษาข้างต้น กล่าวว่า "นิ้วโป้ง" แสนพิเศษของแพนด้ายักษ์ เป็นหนึ่งในหลายคุณสมบัติที่ทำให้สัตว์กินเนื้ออย่างแพนด้ายักษ์ สามารถปรับมาใช้ชีวิตเป็นสัตว์ที่กินไม้ไผ่โดยเฉพาะได้นอกเหนือจากนิ้วมือปกติจำนวน 5 นิ้วแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปแล้ว แพนด้ายักษ์ยังมีกระดูกข้อมือที่ขยายใหญ่ขึ้นมาก เรียกว่ากระดูกเซซามอยด์หรือกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนนิ้วมือที่ 6 และเป็นนิ้วโป้งที่สามารถไปจับกับนิ้วที่เหลืออยู่ (opposable thumb) เพื่อหยิบจับไม้ไผ่เหล่านักวิจัยศึกษากระดูกเซซามอยด์ที่ขยายเร็วที่สุด ซึ่งเป็นนิ้วโป้งที่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษแพนด้าสกุลไอลูร์ราร์คทอส (Ailurarctos) ในสมัยไมโอซีนตอนปลาย (Late Miocene) ณ พื้นที่สุ่ยถังป้า ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนนักวิจัยพบว่าแพนด้าที่สูญพันธุ์ไปแล้วใช้นิ้วโป้งเทียมหยิบอาหารอย่างเมล็ดพืช ถั่ว และผลเบอร์รีได้อย่างยากลำบาก โดยไม้ไผ่อาจเป็นหนึ่งในอาหารเป้าหมายเพียงอย่างเดียวที่นำไปสู่การขยายขนาดกระดูกเซซามอยด์ผลการวิจัยระบุว่าแพนด้ายักษ์กินไผ่ตั้งแต่ 6-7 ล้านปีก่อน โดยนิ้วโป้งเทียมไม่ได้ขยายใหญ่ขึ้นอีกตั้งแต่สมัยไมโอซีนตอนปลาย และไม่เคยพัฒนาจนเป็นนิ้วที่สมบูรณ์ นักวิจัยเชื่อว่านิ้วโป้งเทียมนี้สะท้อนหน้าที่ 2 ประการ ได้แก่ การหยิบจับไม้ไผ่และการกระจายน้ำหนักเติ้งระบุว่าแพนด้ายักษ์ไม่ต้องการใช้นิ้วโป้งที่ยาวกว่าเพื่อช่วยในการกินไผ่อีกต่อไป เพราะปัจจุบันถิ่นที่อยู่ของสัตว์ชนิดนี้อุดมไปด้วยไผ่แล้ว พร้อมเสริมว่ากระดูกเซซามอยด์ที่ยาวเกินไปจะทำให้แพนด้ายักษ์เดินเหินไม่สะดวก เนื่องจากมันมีการเดินแบบใช้กระดูกเท้ารับน้ำหนัก