เครือซีพีเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนเป็นปีที่สองในวันสิทธิมนุษยชนโลก
เครือเจริญโภคภัณฑ์เดินหน้าจัดทำ “รายงานสิทธิมนุษยชน” เป็นปีที่ 2 ยึดมาตรฐานสากลตามกรอบ UN Guiding Principles Reporting Framework (UNGPRF) โดยเผยแพร่ฉบับปี 2564 อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนโลก เน้นย้ำถึงความโปร่งใสในการทำธุรกิจควบคู่กับการเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งในเครือ และตลอดห่วงโซ่อุปทาน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดมั่นในความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ และยุติธรรม รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยรายงานสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ได้นำเสนอให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและเป้าหมายของเครือฯ ที่จะยกระดับมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตาม ’หลัก 3 ประโยชน์’ ได้แก่การคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนก่อนผลประโยชน์ทางธุรกิจของเครือฯ
“วันนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์มีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 450,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่เครือฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราตระหนักดีว่าการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่มีความสําคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และจําเป็นที่จะต้องปลูกฝังไว้ในวัฒนธรรมองค์กร รายงานสิทธิมนุษยชนประจําปี 2564 เป็นฉบับที่สองของเครือฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะเพิ่มศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถของเครือฯ ในการบริหารจัดการประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในการดําเนินธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงความตั้งใจจริงที่จะทํางานกับคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ” นายศุภชัย กล่าว
เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ทบทวนและประกาศนโยบายต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ ยกระดับ 1. นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน 2. การจ้างแรงงานข้ามชาติ 3. นโยบายความหลากหลายความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกัน 4. นโยบายป้องกันการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด 5. นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเน้นมาตรการรป้องกันการคุกคามในโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลและการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ ในยุคที่เราต้องอาศัยเทคโนโลยีในการดํารงชีวิต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อภัยดิจิทัลที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เครือฯ ก่อตั้ง Cybersecurity Center of Excellence เป็นศูนย์กลางการดําเนินการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล เพื่อจัดการความเสี่ยงดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ให้กับบริษัทในเครือฯ และห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
อีกทั้งยังย้ำถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั่วโลกและขับเคลื่อนความเคารพสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนท้องถิ่น ผู้คน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทาน โดยได้รวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อขยายขอบเขตการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ
โดยความพยายามทั้งหมดได้ถูกเรียบเรียงและรายงานอย่างชัดเจนและโปร่งใสในรายงานสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นทุ่มเทในการเคารพสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง เพื่อประโยชน์ของสังคม ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มต่อไป
ดาวน์โหลดฉบับสมบูรณ์ (ภาษาไทย)
ดาวน์โหลด Executive Summary (ภาษาไทย)